วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กรรมทางใจที่ทำให้ร่ำรวยสูงสุด

กรรมทางใจที่ทำให้ร่ำรวยสูงสุด : ให้ของเหมือนกัน แต่ใจแตกต่าง ก็ให้ผลผิดกันได้ลิบลับ


กรรมทางใจที่ทำให้ร่ำรวยสูงสุด


ให้ของเหมือนกัน แต่ใจแตกต่าง ก็ให้ผลผิดกันได้ลิบลับ

พระพุทธเจ้าจำแนกอาการของใจ ในขณะให้ ไว้เป็นต่างๆ แต่ละอาการล้วนเป็นกำลังหนุนให้วิบาก ออกดอกออกผลเป็นความมั่งคั่ง หากใครให้ทานด้วยอาการของใจดังต่อไปนี้ครบถ้วน เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็จะมีผลไพบูลย์สูงสุด ส่งผลเป็นความมั่งคั่งถึงที่สุด เท่าที่ทานนั้นๆจะอำนวย

๑) ให้ด้วยความศรัทธา คือมีความเลื่อมใสอยู่ก่อน ว่าทานเป็นของดี เป็นของที่ให้ความสุขในปัจจุบัน และเที่ยงที่จะติดตามไปให้ความสุขแก่เราในอนาคต ทั้งนี้ไม่ได้หมายเอาอาการโลภแบบจำเพาะเจาะจง ว่าขอให้รวยเท่านั้นเท่านี้ เมื่อนั่นเมื่อนี่ อาการทางใจเช่นนั้นไม่ใช่ศรัทธาในบุญ แต่เป็นการลงทุนของนักธุรกิจอย่างหนึ่ง ผู้ศรัทธาในการเอากำไรเข้าตัว หรือถ้าให้โดยปราศจากศรัทธา ให้อย่างเสียไม่ได้ ให้เพราะจำใจ ให้เพราะตามๆญาติมา แม้เกิดบุญขึ้นมาก ก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้ด้วยความศรัทธาดีแล้ว ยังมีผลให้รูปร่างหน้าตาและผิวพรรณงดงามยิ่งอีกด้วย

๒) ให้ด้วยความเคารพ คือมีความรู้สึกอยู่ว่า การทำทานเป็นของสูง ไม่ใช่ของต่ำ จึงไม่ควรโยนให้ หรือเสือกให้เหมือนเป็นของเหลือเดน การถวายทานแด่สงฆ์จัดเป็นการฝึกใจให้ทำทานด้วยความเคารพได้อย่างดี เพราะรู้สึกอยู่ว่าท่านใช้ชีวิตที่สะอาดสูงส่งกว่าเรา หรืออย่างน้อยพวกท่านก็นุ่งห่มจีวร อันเป็นธงชัยพระอรหันต์ สืบทอดพระศาสนาให้ต่อเนื่องไม่สาบสูญ ถ้าให้ทานโดยปราศจากความเคารพ ให้แบบโยนกระดูกลงพื้น ให้ด้วยความเหยียดหยาม หรือให้แบบแดกดัน แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้ด้วยความเคารพดีแล้ว ยังมีผลให้ดูเป็นคนน่าเลื่อมใสควรแก่การเชื่อฟังอีกด้วย

๓) ให้โดยกาลอันควร คือให้อย่างรู้จักความเหมาะสมกับสถานการณ์ ในเวลาหนึ่งๆ เช่นเมื่อเห็นพระตาแดง ก็ขวนขวายเป็นธุระหายาหยอดตามาให้ท่าน เห็นวัดมีทางโคจรของพระที่เฉอะแฉะ ก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำทางให้แห้งหรือเทปูนให้พวกท่านไปเลย ไม่ใช่เห็นท่านอยู่ปกติ ก็เอายาหยอดตาไปถวายขวดเดียวโดดๆ ด้วยความคิดว่า สักวันหนึ่งท่านอาจจะตาแดง แต่ถ้าซื้อยาสามัญครบชุดไปถวายด้วยความคิดว่า เป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ เผื่อไว้ว่าท่านอาจจำเป็นต้องใช้ อย่างนี้ถือว่าให้โดยกาลอันควร ถ้าให้ทานโดยปราศจากความเหมาะสมกับกาล แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้โดยกาลอันควรดีแล้ว ก็จะเป็นผู้ได้ของตามต้องการในเวลาไม่เนิ่นช้าอีกด้วย

๔) ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ คือให้ด้วยความปรารถนา จะช่วยผู้รับในเรื่องหนึ่งๆอย่างแท้จริง เช่นเมื่อเลือกซื้อยาสีฟันถวายพระ ก็หยิบเอายี่ห้อดีที่สุดที่เราทราบว่ามีคุณภาพในการรักษาเหงือกและฟัน โดยไม่เกี่ยงงอนเรื่องราคา อย่างนี้ถือว่าให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ถ้าให้ทานโดยปราศจากจิตคิดอนุเคราะห์ แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้ด้วยจิตคิดอนุเคราะห์ดีแล้ว ก็จะเป็นผู้มีรสนิยมดี เลือกใช้ของมาทำความเพลิดเพลินเจริญสุขอันเป็นไปด้วยกามคุณ ๕ ได้อย่างฉลาดอีกด้วย (ตรงนี้ขอให้สังเกตว่าบางคน เงินไม่ได้เนรมิตทุกสิ่งในชีวิตให้ดูดีโดยอัตโนมัติ บางคนมีเงินมากก็จริง แต่ไม่รู้จักร้านอร่อย ซื้ออาหารผิดสุขลักษณะ เลือกของแต่งบ้านไม่เป็น นั่งทำงานในที่สกปรกรุงรัง งกเสียจนแม้ข้าวของเครื่องใช้ผุพังก็ดันทุรังใช้ต่อ ในขณะที่บางคนมีทรัพย์สมบัติเพียงปานกลาง แต่ความเป็นอยู่ดูดีคุ้มเงินยิ่ง)

๕) ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น คือให้โดยไม่ประชด ให้โดยไม่แข่งขันชิงดี ให้โดยไม่คิดเอาหน้าเกินใคร ขอให้สังเกตว่าบางคนอยากได้บุญเป็นอันดับหนึ่ง นึกว่าเป็นเช่นนั้นได้ ก็ด้วยการไปอยู่หัวแถวสุดเสมอ แทบจะใช้แขนปาดกวาดต้อนคนอื่นไปอยู่ข้างหลังเลยทีเดียว หรือบางคนก็ทำบุญแบบเกทับกัน เช่นเห็นเขาให้ก่อน ๕๐๐ ตัวเองรีบหยิบแบงก์พันขึ้นมาสู้ จิตมีอาการคิดเบ่ง คิดทำให้เขาเสียหน้าหรือน้อยหน้า ถ้าให้ทานด้วยจิตคิดกระทบกระทั่ง แม้เกิดบุญขึ้นมากก็ไม่ได้เป็นกรรมสว่างสร้างภพแห่งความมั่งคั่งแต่อย่างใด และเมื่อมีนิสัยให้ด้วยจิตไม่คิดกระทบกระทั่งดีแล้ว ก็จะทำให้ทรัพย์สินปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น


ถ้าหากเกิดข้อสงสัย ว่าเราจะมีอาการทางใจถึง ๕ ประการพร้อมๆกันได้อย่างไร ในเมื่อคนเราคิดได้ทีละอย่าง ก็ขอให้หมั่นฝึกสังเกตเถิด ว่าเรายังมี ‘ข้อเสีย’ ในการทำทานอย่างไรอยู่บ้าง เมื่อรู้ตัวก็ฝึกใหม่ เช่นขณะหนึ่งในการให้ รู้สึกว่าเป็นการให้เพียงด้วยกิริยาทางกาย แต่ใจไม่เป็นสุข แห้งแล้งเหมือนดอกไม้ขาดฝน ก็ควรศึกษาประโยชน์ของทานทั้งปัจจุบันและอนาคตให้ดี น้อมใจว่าการให้ทานก็คือการสละยางเหนียวเหนอะหนะของความตระหนี่ เมื่อทำลายความทึบ ย่อมเกิดความรู้สึกโปร่งโล่งเบาสบาย และการให้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ว่าผลทานจะบันดาลสุขทางโภคทรัพย์ยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต จิตก็จะได้คิดปลื้ม เลิกทำทานแบบบัวแล้งน้ำเสียได้

การสังเกตข้อเสียในการทำทานไปทีละข้อ จนเห็นว่าไม่เหลือข้อเสียแล้วนั่นแหละ เป็นที่มาของกรรมทางใจ ที่จะบันดาลผลให้มั่งคั่งสูงสุด

คนส่วนใหญ่ ยังเข้าใจผิดอยู่ว่า ทำแบบใหญ่พรวดพราดโครมเดียว แล้วจะรวยทันใจ ทั้งปัจจุบันและอนาคต ความจริงคือถ้าอาการทางใจยังไม่สมบูรณ์ดังกล่าวแล้ว ผลของทานก็มักจะยังไม่ปรากฏตัว ต่อเมื่อใจเริ่มเป็นสุข มีความสมัครใจ มีความยินดีแท้จริงจากส่วนลึกว่า ‘อยากให้’ โดยปราศจากเงื่อนไขทั้งปวง จะเหมือนพลังความสุขแห่งทาน เอ่อล้นจากภายใน ส่งคลื่นรบกวนเหตุการณ์ภายนอกให้แปรปรวน กลับดำเป็นขาว กลับมืดเป็นสว่าง กลับแคบเป็นเปิดกว้างไปด้วย ต่อให้เคยฝืดเคืองลำบากลำบนอย่างไร ก็เหมือนจะมีตัวช่วย ตัวหล่อลื่นให้ทุกอย่างดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

และถ้ามีน้ำจิตเป็นทาน หรือที่เรียกว่ามีทานจิตอย่างสมบูรณ์ วันไหนไม่มีโอกาสสละให้แล้วรู้สึกเหมือนชีวิตขาดบางอย่างไป นั่นแหละกรรมได้เตรียมภพอันเปิดกว้างสว่างสบายตามจิตไว้แล้ว เมื่อเคลื่อนจากชาติปัจจุบัน ละโลกนี้ไปแล้ว กรรมย่อมเลือกสรรให้ไปอยู่ในภพ ซึ่งมีความสุกสว่าง รุ่งโรจน์ทางการเงินอย่างแน่นอน

ธรรมะดีดี จาก ดังตฤน
http://dungtrin.com/whatapity/06.htm

ศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรค (๖) สมาธิในองค์มรรค

ศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรค (๖) สมาธิในองค์มรรค

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ศรีราชา ชลบุรี
เอื้อเฟื้อภาพโดย บ้านจิตสบาย


หลวงพ่อปราโมทย์ : ถัดไปเราฝึกเรื่องสมาธิ ในส่วนของเกี่ยวกับสมาธิเนี่ย มีองค์มรรคอยู่ ๓ ตัว ๓ ใช่มั้ย ๓ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะเป็นยังไง สัมมาสติเป็นยังไง สัมมาสมาธิเป็นยังไง

สัมมาวายามะคือความเพียรชอบ อะไรที่เรียกว่าความเพียรชอบ เพียรละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรพัฒนากุศลที่เกิดแล้วนะให้มากยิ่งขึ้น นี่เรียกว่าสัมมาวายามะ

หน้าที่เรามีนะ ไม่ใช่บอก ฉันจะรู้สึกตัวเฉยๆ รู้สึกตัวเฉยๆ แค่นั้นไม่พอนะ ต้องสำรวจตัวเองด้วย อกุศลอะไรยังไม่ละ กุศลอะไรยังไม่เจริญ สำรวจตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะงั้นชีวิตเราจะมีทิศทาง ชีวิตเราจะมีเป้าหมาย ไม่ใช่อยู่ล่องๆลอยๆไปวันนึง หน้าที่เรานะสำรวจใจตัวเองไว้ ที่หลวงพ่อสอนให้ดูจิตๆนี่แหล่ะ จะมาทำสัมมาวายามะได้อย่างดีเลย งั้นเรารู้ทันจิตใจของเรานี่ อกุศลอะไรเกิดขึ้นให้รู้ทัน ถ้ารู้ทันแล้วมันจะละของมันเอง วิธีที่จะละอกุศลนะ ก็คือมีสติรู้ทันมัน อกุศลใดเกิดขึ้นในใจ เช่นราคะเกิดขึ้นรู้ทัน ราคะจะดับเอง โทสะเกิดขึ้นในใจมีสติรู้ทัน โทสะจะดับเอง

เพราะงั้นที่บอกเพียรปิดกั้นอกุศล เพียรละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้มีขึ้นมา ไม่ให้ครอบงำใจขึ้นมาเนี่ย ทำด้วยการมีสติรู้ทันจิตนี่เอง ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตนะ อกุศลที่มีอยู่ก็จะดับ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้เลย ในขณะที่มีสติ แต่ขณะขาดสติอกุศลเกิดได้อีก


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ก่อนฉันเช้า