วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เล่าเรื่อง นิพพิทา

เล่าเรื่อง นิพพิทา

บทความนี้ ผมจะนำเอาประสบการณ์ เมื่อผมพบกับ นิพพิทา มาเล่าให้ท่านฟัง เพราะผมเชื่อว่า นักปฏิบัติจำนวนมาก เมื่อพบกับ นิพพิทา จะติดอยู่ที่นี่ แล้วแก้ไม่หลุด จมอยู่กับความทรมาน
*************

ก่อนอื่น ผมจะอธิบายคำว่า นิพพิทา ก่อนว่า มันต่างจากโทสะ อย่างไร

นิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย ฟังดูคล้ายโทสะ แต่ไม่เหมือนกัน

นิพพิทา จะเป็นการเบื่อหน่ายในกองสังขารทั้งปวง ทั้งที่เป็นสิ่งของรอบตัว เช่น บ้าน สิ่งของต่าง ๆ ในบ้าน รวมทั้ง ขันธ์ 5 นิพพิทาเกิดเพราะการเห็นไตรลักษณ์ ความเสื่อมแห่งกองสังขารนั้น ๆ มามาก ๆ นั้นเอง เมื่อเกิดนิพพิทา ความทะยานอยากต้องการในสรรพสิ่งจะหดหายไปทั้งหมด

ส่วนโทสะ จะเป็นอาการไม่พอใจ ไม่สมหวังในความอยากที่ต้องการ
แต่ก็ยังมีความอยากในเรื่องอื่น ๆ อยู่ เช่น เบื่อในงานที่ทำอยู่ แต่ก็ยังมีความอยากไปท่องเที่ยว อยากไปดูหนัง อยากไปกินอาหารอร่อย ๆ เป็นต้น

ท่านคงมองความต่างออกระหว่าง นิพพิทา และ โทสะได้นะครับ

ในพระไตรปิฏก ไม่มีการกล่าวไว้ เมื่อเกิดนิพพิทาแล้วจะจัดการกับนิพพิทาอย่างไร แต่ถ้าท่านได้อ่านดูในพระไตรปิฏก จะกล่าวไว้ดี โดยจะเขียนว่า เมื่อเบื่อหน่าย แล้วคลายกำหนัด แล้วก็ถึงนิพพาน ฟังดูสวยเหลือเกินให้อยากได้นิพพิทามาก แต่ถ้าใครได้แล้ว แก้ไม่ออกจะรู้สึกเองว่ามันทรมานแค่ไหน
เมื่อผมเกิดนิพพิทาและติดมันเป็นเวลานานเกือบ 4 เดือน มันทำให้ผมเข้าใจเองว่า ทำไมในสติปัฏฐาน 4 จึงเขียนไว้ว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 อย่างเร็ว 7 วัน อย่างช้า 7 ปี จะได้เป็นพระอรหันต์ หรือ ไม่ก็เป็นพระอนาคามี
ทำไมในพระไตรปิฏก ไม่ฟันธงว่า ต้องเป็นพระอรหันต์สถานเดียว ที่มีห้อยพระอนาคามี เพราะการติดในนิพพิทานี่เอง ที่แก้ไม่หลุดสักที
นอกจากนี้ ในพระไตรปิฏก ยังมีการกล่างถึง พระในยุคนั้นที่จ้างคนต่างศาสนามาฆ่าให้ตาย ผมคาดว่า พระเหล่านั้น คงติดในนิพพิทาแล้วแก้ไม่ออก เพราะตอนทีผมติดในนิพพิทา ผมมีความรู้สึกทรมานและต้องการตายให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย เพราะผมรู้ว่า ถ้าผมตายเสียในตอนนั้น ผมจะไปที่ไหนต่อไป อย่างน้อย ผมก็สบายใจได้ในภพเบื้องหน้าที่ผมจะไป

จริง ๆ แล้ว นิพพิทา เป็น ความคิด ของตัวเราเอง แล้วเรามองไม่ออกว่า นี่คือการยึดติดในความคิด มันเป็นความคิด .เบื่อหน่าย. ที่เกิดในจิตปรุงแต่งของนักปฏิบัติ

การแก้อาการติด นิพพิทา ก็คือ อย่าไปดูความคิด อย่าไปดูจิต ครับ
แต่ให้ดูกายอย่างเดียวเท่านั้น ให้ทิ้งเรื่องดูจิตไปเลยในตอนนั้น เพราะจิตมันปรุงแต่งอยู่ในอาการ .นิพพิทา.อยู่แล้ว ถ้าขืนไปดูจิต มีแต่แย่ลง กับแย่ลงไปเรื่อย ๆ

เมื่อมาดูกายอย่างเดียว ใช้เวลานานมากเป็นเดือน ๆ ในที่สุด มันก็หลุดจากความคิด.นิพพิทา.นี้ได้ เมื่อหลุดออก จิตก็ไม่คิดเรื่องนี้อีก เมื่อไม่คิดเรื่องนี้ จิตก็เป็นปรกติอีกครั้ง นี่แหละครับ ทุกข์จริงๆ ของนักปฏิบัติ เรื่องขาชาเพราะนั่งสมาธิ นี่เด็ก ๆ ไปเลยครับ เพราะขาชาพอเลิกนั่งไม่นานก็หายได้ แต่ถ้าติด.นิพพิทา เป็นเดือน ๆ แล้วแก้ไม่ออกซิครับ ทุกข์จริง ๆ

แต่ผลของนิพพิทา เมื่อหลุดแล้ว การเห็น .ความว่างของจิตใจ. จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นมากกว่าเดิม

นำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังครับ ถ้าท่านปฏิบัติไปแล้วเจอนิพพิทา ก็ลองพิจารณาการแก้ของผมดู อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านเอง หรือ
ถ้าท่านเกิดอยากจะทรมานเพื่อลิ้มรสแห่งทุกข์ในนิพพิทาสักตั้งหนึ่ง
ท่านจะลองดูหาวิธีของท่านเองก็ได้ครับ




Create Date : 11 มีนาคม 2553
Last Update : 29 มกราคม 2555 18:11:53 น.

นิทานที่ผมแต่งเอง เรื่อง แม่ลูกสาม

นิทานที่ผมแต่งเอง เรื่อง แม่ลูกสาม

คุณแม่คนหนึ่งมีลูกอยู่ 3 คน ลูกคนโต ขื่อ โมหะ ลูกคนรองชื่อ โลภะ ลูกคนสุดท้องชื่อ โทสะ

ลูกทั้ง 3 ของนาง จะมารบกวนนางเสมอ ในเวลาที่นางกำลังทำงานอยู่
โดยจะมาร้องงอแง ขอกินโน่น ขอไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ขอสตางค์เสมอ

คุณแม่คนนี้ มีทีเด็ดอย่างหนึ่ง ก็คือ นางมีสายตาที่มีเมตตา ทุกครั้งที่ลูกทั้งสามของนาง เห็นสายตาของแม่แล้ว ลูกทั้งสามจะเลิกงอแงท้นที และ จะหยุดงอแง กลับไปทำหน้าที่ของตัวต่อไป

ในบางครั้ง ตัวแม่ที่กำลังง่วนอยู่กับการทำงาน เมื่อลูกมางอแงอีก ถ้าคุณแม่เกิดอารมณ์เสียกับลูก ลูกก็จะงอแงต่อไปไม่ยอมหยุด

แต่ถ้าในบางครั้ง เมื่อลูกมางอแงด้วย คุณแม่ที่กำลังทำงาน ไม่อารมณ์เสีย แต่กลับมามองลูกที่มางอแงอยู่ข้าง ๆ ด้วยสายตาอันมีเมตตา ลูกจะหยุดงอแง แล้วกลับไปทำหน้าที่ของตนต่อไป

เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้ เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณแม่ก็จับทางได้ ทุกครั้งที่ลูกมางอแง คุณแม่เพียงแค่มองลูกด้วยสายตาที่มีเมตตา เรื่องก็จบลงได้

*******************
ในความเป็นจริงแห่งการปฏิบัติธรรม
อาการทางจิตต่าง ๆ ก็เปรียบเหมือนลูกทั้งสามของคุณแม่
ที่จะเข้ามางอแงอยู่ร่ำไป นักปฏิบัติจึงต้องมีความเพียร ในการฝึกฝนสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เพื่อให้เห็นอาการทางจิตนั้น เมื่อเห็นอาการทางจิตนั้นแล้ว อาการทางจิตก็จะหายวับไปเองด้วยกำลังแห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิ

อย่าได้คาดหวังว่า การปฏิบัติธรรมนั้น จะทำให้อาการทางจิตมันหายไปได้อย่างเด็ดขาด เพราะนั้นคือธรรมชาติที่เกิดขึ้น และมันจะเป็นอย่างนั้นจนกว่า เราจะตายไปจากโลกนี้แล้ว

แต่นักปฏิบัติควรมีความเข้าใจว่า การปฏิบัติเพื่อให้เห็น ให้เข้าใจธรรมชาติของอาการทางจิต แล้ว การปล่อยวางจะเกิดขึ้นได้

อย่าได้คิดฆ่ากิเลส เพราะนั้นคือธรรมชาติ มันหาใช่กิเลสอะไรไม่ ถ้าเรารู้สึกตัว มีสติ สัมปชัญญะ มันทำอะไรเราไม่ได้เลย

แต่ถ้าเราขาดสติ สัมปชัญญะ เมื่อไร เจ้าธรรมชาติจะเข้าครอบงำจิตใจเราได้เมื่อไร นั่นแหละ คือ กิเลส

เห็นความแตกต่างกันไหมครับ กับคำว่า กิลส และ ธรรมชาติ

แม่ที่ดี เขาไม่ฆ่าลูกตนเองหรอกครับ เขาจะศึกษานิสัยและจะเข้ากับลูกได้ดี นักปฏิบัติก็เช่นกัน อย่าไปคิดฆ่ากิเลสเลย มันไม่มีทางสำเร็จ ศึกษามัน เข้าใจมัน แล้วจะอยู่กับมันได้อย่างไม่ทุกข์

************************

ข้อคิด ท้ายบทความ

ท่านลองดูบัตรประชาชนของท่านซิ ถ้าเป็นของแท้ รุปในบัตร กับตัวจริง จะต้องไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกัน แสดงว่า นีคือบัตรปลอม

ตำราที่ดี อ่านแล้วต้องคลุมเคลือ ต้องไม่เข้าใจ และ สามารถตีความได้หลายอย่าง หลายทาง เช่น กฏหมายต่าง ๆ และ พระไตรปิฏก
ถ้าอ่านแล้วไม่คลุมเคลือ แต่กลับชัดเจน เข้าใจได้ทันที นี่คือ ตำราที่ปลอมมา

ในพระไตรปิฏก จะมีข้อความหนึ่งที่เขียนในทำนองที่ว่า การปฏิบัตินั้น ให้ปฏิบัติจน ...อันตัณหาและทิฐิอาศัยไม่ได้แล้ว... ท่านเข้าใจคำนี้ว่าอย่างไร ถ้าท่านเข้าใจถูก ท่านก็จะไม่ทุกข์กับการปฏิบัติธรรม ถ้าท่านเข้าใจคลาดเคลื่อน ท่านก็จะทุกข์กับการปฏิบัติธรรม นี่แหละครับ ตำราที่ดีของแท้ ต้องคลุมเคลือ








Create Date : 31 มีนาคม 2553
Last Update : 29 มกราคม 2555 18:11:29 น.

ความว่างที่ผมพบมาในการปฏิบัติ

ความว่างที่ผมพบมาในการปฏิบัติ

ในข้อเขียนนี้ ผมจะเขียนขึ้นจากสิ่งที่ผมประสบมาจากการปฏิบัติธรรมในเรื่องความว่าง

1. ความว่างในบทความนี้ คืออะไร
ความว่าง มันก็คือว่าง ไม่มีอะไรเลย สำหรับสภาวะธรรมแล้ว
ความว่างนี้ จะหมายถึง จิตใจที่กำลังว่างเปล่า ปราศจากการปรุงแต่งใด ๆ ทั้งสิ้นในจิตใจ แต่ยังพร้อมอยู่ด้วยสภาวะของการรู้

2. เมื่อใครก็ตามที่ได้เจริญสติปัฏฐาน 4 อย่างถูกต้องถูกทาง เขาจะพบสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนเองก็คือ เมื่อมีการปรุงแต่งเกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ว่า สิ่งปรุงแต่งนั้นจะดีหรือเลว เป็นบุญหรือว่าเป็นบาป จะมีพลังงานอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในจิตใจ ที่ผู้ปฏิบัติจะสัมผัสพลังงานนั้นได้ พลังงานนี้จะมีลักษณะเป็นก้อนเป็นดวงขึ้นมา บอกไม่ได้ว่า ก้อนเล็กหรือก้อนใหญ่ บอกไม่ได้ว่า ตั้งอยู่ที่ใด แต่สามารถสัมผัสถึงก้อนพลังงานนี้ได้ เมื่อก้อนพลังงานอันเกิดจากการปรุงแต่งของจิตใจปรากฏขึ้น เมื่อนั้น จิตใจก็จะไม่ว่างเสียแล้ว

3.ผู้ปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติมาถูกทาง เมื่อเขาได้พบกับความว่าง เขาก็จะเข้าใจได้ว่า ความว่างนั้น ก็สักแต่ว่าเป็นสภาวะธรรมอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ยินดียินร้ายในสภาวะธรรมที่เป็นความว่างนี้

4 แต่สำหรับผู้ปฏิบัติที่ปฏิบัติมาไม่ตรงทาง เขาจะไปสร้างความว่างขึ้น เกิดความอยากต้องการให้จิตว่าง เพราะมักจะได้ยินสรรพคุณความสุขอันมากจากจิตที่ว่าง เขาจะสร้างจิตว่างขึ้นมาโดยการบังคับจิต กดข่มจิต ไม่ให้จิตใจรับรู้อะไรเลย และเขาเข้าใจว่า จิตใจที่เขาสร้างนี่เป็นความว่าง แต่เขาไม่รู้หรอกว่า อันว่าความว่างชนิดนี้ เป็นความว่างที่ประกอบด้วยความหลง (อันเป็น โมหะ) และ ความต้องการที่จะบังคับจิต และความอยากได้ความว่าง (อันเป็น โลภะ)
มันจึงไม่ใช่ความว่างที่เป็นจิตใจที่ว่างอยู่ตามธรรมชาติมันเอง ผู้ปฏิบัติที่สร้างความว่างชนิดนี้ขึ้นมา มักจะบูชาความว่างนั้น และยอมรับว่า ความว่างนี่เป็นเขา เป็นของเขา เมื่อใครมาทำให้จิตใจของเขาสูญเสียความว่างขึ้นมา เขาก็จะโกรธเป็นอันมาก ความว่างชนิดนี้ มักจะอยู่ได้ในขณะที่กำลังนั่งสมาธิตัวนิ่งแข็ง ไม่ไหวติง ถ้าเมื่อใดที่สมาธิของเขาถอนออก ความว่างชนิดนี้ก็จะหายไปทันที

5.การเข้าถึงความว่างเองตามธรรมชาตินั้น จะได้มาจากการเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ อย่างถูกต้องและมีกำลังสัมมาสมาธิค่อนข้างมั่นคงแล้ว
ดังนั้น ความว่างชนิดนี้ จะเกิดอยู่ได้เองถึงแม้ว่าจะไม่ได้นั่งสมาธิ หรือเกิดอยู่ได้เองในขณะที่กำลังทำกิจวัตรประจำวันส่วนตัวอยู่
เมื่อผู้ปฏิบัติที่ยังไม่เคยพบกับความว่างตามธรรมชาติแห่งจิตใจ เขาจะมองไม่ออก จะดูไม่เห็น แต่เขาจะเห็นได้แต่พลังงานจิตปรุงแต่ง (ดังที่เขียนในข้อ 2 ) ที่มันเกิด-หยุด เกิด-หยุด เป็นพัก ๆ ไป ต่อเมื่อเขาเห็นพลังงานจิตปรุงแต่งเกิด-หยุด เกิด-หยุด ได้บ่อย ๆ จนชำนาญ เขาจะพบและเห็นความว่างของจิตใจได้เองสักวันหนึ่ง เมื่อเขาได้พบความว่างแห่งจิตใจได้ 1 ครั้งแล้ว เขาจะไม่มีความลำบากที่จะเห็นความว่างแห่งจิตใจอีกเลย เขาจะเห็นจิตใจที่ว่างได้บ่อย ในทุกอิริยาบท ไม่ใช่เห็นได้แต่เพียงขณะนั่งสมาธิ ตราบเท่าที่สัมมาสมาธิยังตั้งมั่นอยู่ได้

6.อาจมีผู้สงสัยว่า ความว่างที่ผมพูดนี้คือนิพพานใช่หรือไม่ เรื่องนี้ผมไม่อาจเฉลยได้ อันเนื่องจากว่า นิพพาน ก็เป็นชื่อสภาวะธรรมทางจิตใจอย่างหนึ่งที่ไม่มีการแปรเปลี่ยน แต่ผมขอคาดเดาว่า ถ้าใครก็ตามที่สามาถปฏิบัติธรรมจนเห็นจิตใจที่ว่างเปล่าได้อยู่ตลอดเวลาแล้ว เขาก็คงสัมผัสกับนิพพานเช่นเดียวกัน

7.อย่าหลงใหลความว่าง อย่าอยากได้ความว่าง อย่าสร้างความว่างขึ้นมาจากความอยาก
ถ้าหลงไหล ถ้าอยากได้ ถ้าสร้างขึ้นมา จิตใจมันก็ไม่ว่างแล้วแล้วท่านจะได้ความว่างได้อย่างไรกัน

8.เรื่องความว่างพูดมากไม่ได้ เพราะคนที่ว่าเขาได้พบความว่างแล้ว เขาก็จะมีทิฐิประจำตัวที่เชื่อว่าสิ่งที่เขาพบนั้นเป็นความว่างจริง ไม่ใช่ของเก๊ แต่เมื่อใดที่เขาได้พบทั้งของจริงและของเก๊ เขาจะรู้ทันทีเลยว่า อันไหนจริง อันไหนเก๊

ขอจบเรื่องนี้เพียงเท่านี้ อย่าได้เชื่อผม จนกว่าท่านจะพบเองทั้งว่างจริง ว่างเก๊ นั้นแหละ


Create Date : 23 พฤษภาคม 2552
Last Update : 29 มกราคม 2555 19:54:30 น.