วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

ตำนานวันตรุษจีน

ตรุษจีน

           ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า "กว้อชุนเจี๋ย" หรือ "กว้อเหนียน" เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า "เหนียน" มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน 
           ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย

           ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก
           เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน 

           ต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า "ตรุษจีน" 


ตรุษจีนในภาษาจีน

ตรุษจีน

          ตรุษจีน หรือ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (ตัวเต็ม: 春節, ตัวย่อ: 春节, พินอิน: Chūnjíe ชุนจีเหย๋) หรือ ขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ (ตัวเต็ม: 農曆新年, ตัวย่อ: 农历新年, พินอิน: Nónglì Xīnnián หนงลี่ ซินเหนียน) และยังรู้จักกันในนาม วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่ และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคติ (正月 พินอิน: zhèng yuè เจิ้งยวี่เย่) และสิ้นสุดในวันที่ 15 ซึ่งจะเป็นเทศกาลประดับโคมไฟ (ตัวเต็ม: 元宵節, ตัวย่อ: 元宵节, พินอิน: yuán xiāo jié หยวนเซียวจีเหย๋)  
          คืนก่อนวันตรุษจีน ตามภาษาจีนกลางเรียกว่า 除夕 (พินอิน: Chúxì ฉูซี่) หมายถึงการผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน และคืนนี้จะเป็นวันสุดท้ายของปีนั่นเอง ซึ่งเป็นคืนที่ครึกครื้นที่สุด ใครที่ไปทำงานห่างจากบ้านเกิด ต่างก็พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะกลับมาฉลองวันปีใหม่ที่บ้าน ตอนกินอาหารมื้อค่ำ คืนก่อนขึ้นปีใหม่จีน ทุกคนในครอบครัวต่างนั่งกันพร้อมหน้าล้อมโต๊ะอาหาร ต่างชนแก้วอวยพรปีใหม่กัน ทานมื้อค่ำเรียบร้อยแล้ว บางคนก็ดูทีวี บางคนก็ฟังเพลง บางคนก็นั่งคุยกัน บางคนก็เล่นหยอกล้อกับเด็กๆ บ้านเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ 

          พอถึงเที่ยงคืน คนจีนทางเหนือก็จะเริ่มทำเกี๊ยว (เจี้ยวจึ) คนจีนทางใต้ ก็จะปั้นลูกอี๋ทำน้ำเชื่อม ทำไป ชิมไปทานไป ครึกครื้นอย่างยิ่ง เช้าวันรุ่งขึ้นแต่เช้า ทุกคนจะตื่นแต่เช้า เยี่ยมเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูงอวยพรปีใหม่


ตรุษจีน



          ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป สำหรับปี 2555 นี้ วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 23 มกราคม
          สำหรับที่มาของ วันตรุษจีน นั้น เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัยนั่นคือเมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

          นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง

          ส่วนการกำหนด วันตรุษจีน นั้น ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ
          การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้านทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ

          จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับ วันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
ตรุษจีน


          นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ วันตรุษจีน คือ "อั่งเปา" ซึ่งมีความหมายว่า "กระเป๋าแดง" หรือจะใช้คำว่า "แต๊ะเอีย" ซึ่งมีความหมายว่า "ผูกเอว" จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป)  



ความเชื่อโชครางในวันตรุษจีน


วันตรุษจีน

ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน (คลังปัญญาไทย)

 ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่

         
ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่า ๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
 ไม่ร้องไห้

          หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
 แต่งกายสะอาด แต่ไม่ควรสระผม
          การแต่งกายและความสะอาด ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
 ปรึกษาชินแสเกี่ยวกับการเดินออกจากบ้าน

          ตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมาก ๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อเป็นความเป็นสิริมงคล
 บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก 

          ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
 ห้ามเข้าไปในห้องนอนคนอื่น

          การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษถือเป็นโชคร้าย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
 ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษ

          เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อนเป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัวและเอกลักษณ์ของตน




ประเพณีการไหว้ตรุษจีน


ตรุษจีน


          วันตรุษจีน นับได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมากวันหนึ่งของชาวจีน เนื่องจากวันตรุษจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก โดยเทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคติ ซึ่งในปีนี้วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 23 มกราคม 2555

          สำหรับปีใหม่จีนนี้ ก็เช่นเดียวกับปีใหม่ของตะวันตก เนื่องจากถือว่าเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในปีต่อไป ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนทั่วไปที่จะมีการทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่เพื่อปัดสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากบ้าน และต้อนรับสิ่งดี ๆ เข้ามา นอกจากนี้ วันตรุษจีนยังถือได้ว่าเป็นวันที่ชาวจีนได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและสรรพสิ่ง รวมทั้งเป็นวันที่ทุกคนจะได้รวมญาติ ได้พบปะญาติพี่น้องมากมายอีกด้วย ดังนั้น วันตรุษจีนจึงถือเป็นวันหยุดที่สำคัญมาก และจะมีการเฉลิมฉลองของชาวจีนและชาวจีนโพ้นทะเลไปทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี มองโกเลีย เวียดนาม ทิเบต เนปาล ภูฐาน รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งมีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน 

          สำหรับในประเทศไทย จะถือปฏิบัติกันอยู่ 3 วันสำคัญ คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว

          1. วันจ่าย คือวันก่อนวันสิ้นปี ซึ่งเป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (ตี่จู้เอี๊ย) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน

          2. วันไหว้ คือ วันสิ้นปี โดยในวันไหว้จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ 

           ตอนเช้ามืด ไหว้ "ไป่เล่าเอี๊ย" เป็นการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ โดยมีเครื่องไหว้ คือเนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่ม ตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหงวแซ) ก็ได้ และที่ขาดไม่ได้คือ เหล้า, น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

           ตอนสาย จะไหว้ "ไป่แป๋บ้อ" คือ การไหว้บรรพบุรุษ หรือญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน โดยการไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยงวัน เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ จากนั้นญาติพี่น้องจะมาร่วมกันทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด โดยจะมีการแจกอั่งเปาหลังจากทานอาหารร่วมกันแล้ว

           ตอนบ่าย จะไหว้ "ไป่ฮ่อเฮียตี๋" เป็นการไหว้ผีพี่น้องและผีไร้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัด เพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเอง

ตรุษจีน

          3. วันเที่ยว หรือ วันถือ ซึ่งก็คือวันขึ้นปีใหม่ หรือเรียกว่า วันชิวอิก วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ "ไป่เจีย" เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยการมอบส้มสีทองให้ 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย โดยเหตุที่ให้ส้มก็เพราะ คำว่า ส้ม นั้น ออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กิก" (橘) ซึ่งไปพ้องกับคำว่า ความสุขหรือโชคลาภ (吉) เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภไปให้ เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือ คือเป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น งดพูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

 การไหว้เจ้าที่ และ ไหว้บรรพบุรุษ 

ของไหว้ตรุษจีน

ของไหว้ตรุษจีน

ของไหว้เจ้าที่ประกอบด้วย

           ของคาว ประกอบไปด้วย หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย หากไหว้ 3 อย่างเรียกว่า ชุดซาแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ส่วนการไหว้ 5 อย่างเรียกว่า ชุดโหงวแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา

           ขนมไหว้ ประกอบไปด้วย ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู, คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย (เป็นไส้ชนิดใดก็ได้), ขนมจันอับ, ซาลาเปา ซึ่งขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพูหรือมีแต้มจุดแดง

           ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องมียืนเป็นหลัก

           ผลไม้ ส้ม, กล้วยทั้งหวีเลือกเขียว ๆ , องุ่น, แอ๊ปเปิ้ล, ชมพู่, ลูกพลับ

           เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่ หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ จัด 5 ที่เช่นกัน

           กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้าที่

           จำนวนธูปไหว้ คนละ 5 ดอก

          หมายเหตุ จำนวนชนิดของขนมไหว้ นิยมให้สอดคล้องกับของคาว เช่น ไหว้ของคาว 3 อย่าง ขนม 3 อย่าง และผลไม้ 3 อย่าง

ของไหว้ตรุษจีน

ของไหว้ตรุษจีน

ของไหว้บรรพบุรุษประกอบด้วย

           ของคาว ประกอบไปด้วย หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย หากไหว้ 3 อย่างเรียกว่า ชุดซาแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ส่วนการไหว้ 5 อย่างเรียกว่า ชุดโหงวแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา

           กับข้าว นิยมจัด 8 อย่าง หรือ 10 อย่าง โดยให้มีของน้ำ 1 อย่าง

           ข้าว ข้าวสวยใส่ชามพร้อมตะเกียบ จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษ นิยมนับถึงแค่รุ่นปู่ย่า

           ขนมไหว้ ประกอบไปด้วย ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู, คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย (เป็นไส้ชนิดใดก็ได้), ขนมจันอับ, ซาลาเปา ซึ่งขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพูหรือมีแต้มจุดแดง

           ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องมียืนเป็นหลัก

           ผลไม้ ส้ม, กล้วยทั้งหวีเลือกเขียว ๆ , องุ่น, แอ๊ปเปิ้ล, ชมพู่, ลูกพลับ

           เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่ หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ จัด 5 ที่เช่นกัน

           กระดาษเงิน กระดาษทอง ต้องมี "อ่วงแซจิ่ว" สำหรับใบเบิกทางให้บรรพบุรุษลง มารับของไหว้ ทองแท่งสำเร็จรูป แบงก์กงเต็ก ค้อซี ฯลฯ จะมากหรือน้อยแล้วแต่เรา

           จำนวนธูปไหว้ คนละ 3 ดอก




15 วันของการฉลองตรุษจีน


วันตรุษจีน 2554

           วันตรุษจีนใกล้เข้ามาถึง เด็กน้อย เด็กโตทั้งหลายต่างใจจดใจจ่อรอ อังเปา ที่หมายถึงกระเป๋าแดง ซึ่งเป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง ซึ่งทำเป็นประเพณีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ และมีฉลองเลี้ยงตรุษจีนของทุกครอบครัวคนจีนกันทุกปี และคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีน จะมี 15 วันแห่งการฉลองวันตรุษจีนที่เป็นประวัติสืบต่อกันมา จะมีอะไรกันบ้างไปดูเลยค่ะ


            วันแรกของปีใหม่ของชาวจีนหรือวันตรุษจีน เป็นการต้อนรับเทวดา แห่งสวรรค์และโลก หลายคนงดทานเนื้อในวันนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการต่ออายุ และนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตน

            วันที่สอง ชาวจีนจะไหว้บรรพชนและเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข เลี้ยงดูให้ข้าว อาบน้ำให้แก่มัน ด้วยเชื่อว่าวันที่สองนี้เป็นวันที่สุนัขเกิด

            วันที่สามและสี่ เป็นวันของบุตรเขย ที่จะต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยายของตน

            วันที่ห้า เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือน ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ในวันนี้จะไม่มีใครไปเยี่ยมใครเพราะจะถือว่าเป็นการนำโชคร้าย มาแก่ทั้งสองฝ่าย

            วันที่หก ถึงสิบชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของ ครอบครัว และไปวัด สวดมนต์เพื่อความร่ำรวยและความสุข

            วันที่เจ็ด ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวนานำเอาผลผลิตของตนออกมาชาวนาเหล่านี้จะทำน้ำที่ทำ มาจากผักเจ็ดชนิดเพื่อฉลองวันนี้ซึ่งวันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิดของมนุษย์ ในวันนี้อาหารจะเป็นหมี่ซั่วกินเพื่อชีวิตที่ยาวนานและปลาดิบเพื่อความสำเร็จ

            วันที่แปด ชาวฟูเจียน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครัวอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์

            วันที่เก้า จะสวดมนต์ไหว้และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้

            วันที่สิบถึงวันที่สิบสอง เป็นวันที่ควรเชื้อเชิญเพื่อน ๆ และญาติ ๆ มาทานอาหารเย็นร่วมกัน และหลังจากที่ทานอาหารที่อุดมไปด้วยความมัน

            วันที่สิบสาม หลังจากทานอาหารที่อุดมไปด้วยความมันเมื่อวันที่สิบถึงวันที่สิบสองแล้ว วันนี้ก็ถือเป็นวันที่เราควรทานข้าวธรรมดากับผักดองกิมกิ ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย

            วันที่สิบสี่ ความเป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟซึ่งจะมีขึ้นในคืนของวันที่สิบห้าแห่งการ ฉลองตรุษจีน

            วันที่สิบห้า วันแห่งการฉลองตรุษจีน



อาหารไหว้ในวันตรุษจีน




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม  

          ใกล้เทศกาลตรุษจีนกันมาแล้ว หลาย ๆ คนคงตั้งหน้าตั้งตารอ เพราะนี่คงเป็นเทศกาลที่จะได้พบปะกับญาติมิตรที่ไม่ได้เจอกันมานาน และได้อั่งเปาจากญาติผู้ใหญ่ แต่ก่อนที่จะถึงวันตรุษจีนนั้น เราคงสังเกตเห็นว่า มีการไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษก่อนที่จะเข้าวันตรุษจีน เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต วันนี้ เราจึงเสนอของเซ่นไหว้ถูกหลัก พร้อมทั้งความหมายของของไหว้แต่ละอย่าง มาฝากกันค่ะ

         เดิมนั้น คนจีนจะแบ่งวันไหว้ออกเป็น 2 วัน นับเป็น 2 เทศกาลคือ วันที่ 29 หรือ 30 เดือน 12 ของจีน และ วันชิวอก ซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเริ่มมาจากฤดูใบไม้ผลิของคนจีน แต่คนไทยมักจะรวม 2 วันนี้เป็นวันเดียวกัน และไหว้พร้อมกันทีเดียว

          ของไหว้ในวันที่ 29 หรือ 30 ของเดือน 12

อาหารไหว้ช่วงเช้า

อาหารไหว้ช่วงเช้า

         ช่วงเช้า  เวลาประมาณ 07.00 – 08.00 น. ตอนเช้าชาวจีนจะนิยมไหว้สิงศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน และไหว้ปุ้งเท้า ซึ่งเป็นเทพท้องถิ่นที่คนทำมาค้าขายนิยมบูชา โดยจะไหว้ด้วยเนื้อสัตว์ 3 อย่าง หรือ ซาแซ  เช่น

                   หมู  มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
                   เป็ด  มีความหมายถึง ความสามารถอันหลากหลาย ความมั่งคั่ง ความมีมาก
                   ไก่   มีความหมายถึง ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยหงอนไก่ที่มีลักษณะเหมือนหมวกขุนนาง มีความหมายถึงความซื่อตรง
                   ขนมเข่ง  มีความหมายถึง การมีเพื่อนมาก


อาหารไหว้ช่วงสาย

อาหารไหว้ช่วงสาย

          ช่วงสาย เวลาประมาณ 09.00 น. ถึงก่อนเที่ยง จะเป็นการไหว้บรรพบุรุษและบรรพชน อาหารที่ไหว้มีดังนี้

          อาหารคาว อาหารคาวต่าง ๆ มีความหมาย ดังต่อไปนี้

                  ลูกชิ้นปลา  หมายถึง ความเหลือกินเหลือใช้ ชีวิตราบรื่น
                  ผัดต้นกระเทียม  หมายถึง ความมั่งคั่ง มีเงินมีทองให้นับอยู่เสมอ
                  ผัดตับกับกุยช่าย  หมายถึง การมียศฐาบรรดาศักดิ์ ฐานะร่ำรวย
                  แกงจืด หมายถึง การให้ลูกหลานมีชีวิตราบรื่น
                  เป๋าฮื้อ หมายถึง ความเหลือกินเหลือใช้ มีไว้ให้ลูกหลาน
                  ผัดถั่วงอก หมายถึง ความงอกงาม เจริญรุ่งเรือง
                  เต้าหู้ หมายถึง การเจริญเติบโต บุญ ความสุข
                  สาหร่ายทะเล หมายถึง ความโชคดี ร่ำรวย

          อาหารหวาน มีความหมายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                  ซาลาเปา หมายถึง การห่อโชคลาภมาให้ลูกหลาน
                  ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญงอกงาม
                  ขนมคัดท้อก้วย คือ ขนมไล้ถั่วต่าง ๆ ที่ทำเป็นลูกท้อ หมายถึง การอวยพรให้มีอายุยืนยาว
                  ขนมไข่ หมายถึง การเจริญเติบโต
                  ขนมอี๊ ทำจากแป้งกลม ๆ นวดแล้วเจือสีชมพู แล้วปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ต้มกับน้ำตาล จะทำให้ เคี้ยวง่าย ขนมอิ๊จึงหมายถึงความราบรื่น
                  ขนมเทียน หมายถึง ความสว่างรุ่งเรือง

          ขนมเข่ง
          ชุดซาแซ คือ หมู เป็ด ไก่
          ข้าวสวย พูนใส่ให้ครบตามจำนวนของบรรพบุรุษ
          น้ำชา
          ผลไม้ ผลไม้ต่าง ๆ ที่ไหว้ในวันตรุษจีนมีความหมายดังต่อไปนี้

                  ส้ม หมายถึง โชคลาภ วาสนา มีความหมายถึงโชคดี
                  กล้วย หมายถึง การมีลูกหลานมาก และเรียกโชคลาภเข้าบ้าน
                  แอปเปิ้ล หมายถึง การมีสุขภาพแข็งแรง และความสุขสงบ
                  สับปะรด หมายถึง การมองเห็นได้กว้างไกล
                  องุ่น หมายถึง ความมั่งคั่งและความแข็งแรง
                  สาลี่ หมายถึง เงินทองไหลมาเทมา

          เครื่องกระดาษ มีความหมายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                  กระดาษเงินกระดาษทอง คนจีนเชื่อว่า เมื่อคนตายตายไปแล้ว ลูกหลานจะต้องส่งเงินทองไปให้เพื่อแสดงความกตัญญู และการเผากระดาษเงินกระดาษทอง ก็ยังหมายถึงสิริมงคลที่จะเกิดกับลูกหลานอีกด้วย
                  กอจี๊ หรือ จี๊จุ๊ย หมายถึง กระดาษทองชิ้นใหญ่มีกระดาษแดงตัดเป็นตัวอักษรว่า เผ่งอัน หมายถึง ความโชคดี
                  กิมจั๊ว หมายถึง กระดาษเงินกระดาษทองที่ลูกหลานนำมาทำเป็นชุด พับเป็นรูปดอกไม้ก่อนไหว้
                  กิมเต้า หมายถึง ถังเงินถังทอง ใช้ไหว้เทพยดาฟ้าดิน
                  กิมเตี๊ยว หรือ แท่งทอง ใช้สำหรับไหว้คนตาย
                  อิมกังจัวยี่ หรือ แบงค์กงเต็ก ใช้สำหรับเบิกทางไปสู่สวรรค์ขอคนตาย


อาหารไหว้ช่วงเย็น

อาหารไหว้ช่วงบ่าย


          ช่วงบ่าย เวลาประมาณ 13.00 – 15.00 น. จะเป็นการไหว้วิญญาณที่ไม่มีญาติ โดยประกอบไปด้วยเครื่องไหว้ดังนี้

          อาหารคาว
          อาหารหวาน
          เครื่องกระดาษ


อาหารไหว้วันตรุษจีน

อาหารไหว้วันตรุษจีน

          วันตรุษจีน เป็นการไหว้ในช่วงเช้าของวันที่ 1 ด้วยของเซ่นต่าง ๆ หลังจากนั้นจะให้ออกไปไหว้เจ้านอกบ้าน และไหว้บรรพบุรุษ เสร็จแล้วจะเดินทางไปเยี่ยมพี่น้อง โดยเครื่องไหว้ต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้


          ส้ม หมายถึง โชคดี
          ของหวาน 5 อย่าง
          ขนมจันอับ หมายถึง ความเจริญงอกงามดุจดังเมล็ดพืช




สิ่งไม่ควรทำในวันตรุษจีน


ตรุษจีน

 ห้ามทำความสะอาด เนื่องจากการทำงานบ้าน เช่น การซักล้าง หรือ การกวาดบ้านปัดฝุ่น จะเป็นการขับไล่ความโชคดีออกไป ดังนั้นการทำความสะอาดบ้านจึงควรเริ่มทำตั้งแต่ก่อนที่วันขึ้นปีใหม่จะมาถึง
 ห้ามสระผม ไม่ควรสระผมในวันเริ่มต้นและวันสุดท้ายของวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากการสระผมถือเป็นการชะล้างความโชคดีที่มาถึงในวันขึ้นปีใหม่
 ห้ามใช้ของมีคม ไม่ควรใช้ของมีคมในวันขึ้นปีใหม่ ของมีคมต่างๆ เช่น มีด, กรรไกร, ที่ตัดเล็บ เนื่องจากถือว่าการกระทำของของมีคมนี้ จะเป็นการตัดสิ่งหรืออนาคตที่ดี ที่จะนำมาในวันขึ้นปีใหม่
 ห้ามโต้เถียง ควรระมัดระวังในการใช้คำพูดที่มีความหมายไปในทางลบ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการโต้เถียงกัน คำที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือความตาย เป็นคำที่เราควรหลีกเลี่ยงในวันขึ้นปีใหม่
 เลี่ยงเรื่องเกี่ยวกับความตาย หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศพ และการฆ่าสัตว์ปีก
 ห้ามซุ่มซ่าม ควรระมัดระวังในการทำสิ่งใดๆ ไม่ควรที่จะให้เกิดการสะดุด หรือ ทำสิ่งของตกแตก ซึ่งนั่นจะหมายถึงการนำความโชคไม่ดีเข้ามาในอนาคต 


เกร็ดหน้ารู้ในวันตรุษจีน


ตรุษจีน

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันตรุษจีน (คลังปัญญาไทย)
         สัญลักษณ์อีกอย่างของเทศกาลตรุษจีน คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองแดงใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มา คือ ในสมัยก่อนเหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็กๆ เด็กๆ ก็จะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว
         ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะกล่าวคำ ห่ออ่วย หรือคำอวยพรภาษาจีนให้กัน หรือมีการติดห่ออ่วยไว้ตามสถานที่ต่างๆ คำที่นิยมใช้กัน ได้แก่ 
                - แต้จิ๋ว : ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ จีนกลาง: ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่

                - จีนกลาง: กงฉี่ฟาฉาย

         เกียฮ่อซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวยๆ อีกฝ่ายก็จะกล่าวตอบว่า ตั่งตังยู่อี่ แปลว่า ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน 

         อื้ คำนี้ แปลว่ากลมๆ ขนมอี๊กลมๆ แป้งนิ่มๆ เคี้ยวง่าย กลืนง่าย ให้ความหมายมงคลอวยพรให้ชีวิตราบรื่นง่ายดายเหมือนขนมอี๊ที่ไหว้และรับประทาน

         โหงวเส็กที้ง แปลว่า ขนม 5 สี อันได้แก่ ถั่วตัด งาตัด ข้างพอง ถั่วเคลือบ น้ำตาล และฟักเชื่อม บางทีก็เรียกว่า "ขนมจันอับ"

         ส้ม คนจีนเรียกว่า กา แต่ก็มีอีกคำหนึ่งเรียกว่า "ไต้กิก" แปลว่าดี (ส่วนมากนิยมไหว้ 4 ผล เพราะเลขสี่พ้องเสียงคำ "สี่" ที่แปลว่าดี)

         โชคดี (ส่วนมากนิยมไหว้ 4 ผล เพราะเลขสี่พ้องเสียงคำ "สี่" ที่แปลว่าดี) 




คำอวยพรในวันตรุษจีน



             新正如意 新年发财 (ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ)... คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี (ถ้าเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้)
 
             新年快樂 (ซินเหนียนไคว้เล่อ) ... ขอให้มีความสุขในวันปีใหม่

             恭贺新年 (กงเฮ่อซินเหนียน) ... สุขสันต์วันปีใหม่
             恭贺新禧 (กงเฮ่อซินสี่) ... สุขสันต์วันปีใหม่

   
เฮง ๆ รวย ๆ มาอวยพรวันตรุษจีนกันดีกว่า   
 
 คำอวยพรเกี่ยวกับเรื่องความร่ำรวย ประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง
             恭喜发财 (กงซีฟาไฉ) ... ขอให้ร่ำรวย
 
             日进斗金 (ยื่อจิ้นโต้วจิน) ... ขอให้ชัยชนะ และเงินทองเข้ามาทุก ๆ วัน
             大吉大利  (ต้าจี๋ต้าลี่) ... ค้าขายได้กำไร
             招财进宝 (เจาไฉจิ้นเป่า) ... เงินทองไหลมาเทมา ทรัพย์สมบัติไหลเข้าบ้าน

             金玉满堂 (จินอวี้หม่านถัง) ... ร่ำรวยเงินทอง ทองหยกเต็มบ้าน
 
             日日有见财 (ยื่อยื่อโหย่วเจี้ยนไฉ) ... ทุกวันมีแต่ความร่ำรวย

             黄金万两 (หวงจินว่านเหลี่ยง) ... ทองคำมากล้นทวีคูณ (ค้าขายให้มีกำไร ทรัพย์สินเงินทองมากมาย)  
 
             年年大赚钱 (เหนียนเหนียนต้าจ้วนเฉียน) ... ปีนี้ร่ำรวยมหาศาล
             财源广进 (ไฉหยวนกว่างจิ้น) ... เงินทองไหลมาเทมา

             年年有余 (เหนียนเหนียนโหย่วอวี๋) ... เหลือกินเหลือใช้ทุกปี

             一本万利 (อี้เปิ่นว่านลี่) ... กำไรมากมาย
             祝你顺利 (จู้หนี่ซุ่นลี่) ... ขอให้คุณประสบความสำเร็จ

             祝您步步高升 ! (จู้หนินปู้ปู้เกาเซิง) … ขอให้ท่านเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

             福禄双全 (ฝูลวี่ซวงฉวน) ... เป็นศิริมงคล ด้วยเงินทองและวาสนา

             事业发达 (ซื่อเย่ฟาต๋า) ... กิจการเจริญรุ่งเรือง
  
 
 คำอวยพรเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ
 
             福寿万万年 (ฝูโซ่วว่านว่านเหนียน) ... อายุยืนหมื่น ๆ ปี

             龙马精神 (หลงหม่าจินเสิน) ... สุขภาพแข็งแรง

             四季平安 (ซื่อจี้ผิงอัน) ... ปลอดภัยตลอดปี

             祝你长寿 (จู้หนี่ฉางโส่ว) ... ขอให้คุณอายุยืนยาว

             祝你健康 (จู้หนี่เจี้ยนคัง) ... ขอให้คุณมีสุขภาพแข็งแรง

             身体健康 (เซินถีเจี้ยนคัง) ... สุขภาพแข็งแรง

 
 คำอวยพรเกี่ยวกับเรื่องความสมปรารถนา
             万事如意 (ว่านซื่อหรูอี้) … ทุกเรื่องสมปรารถนา

             家好运气 (เจียห่าวยวิ่นชี่) ...ความโชคดีเข้าบ้าน

             事事顺利 (ซื่อซื่อซุ่นลี่) ... ราบรื่นในทุก ๆ เรื่อง

             吉祥如意 (จี๋เสียงหรูอี้) ... เป็นสิริมงคลสมดังปรารถนา

             好运年年 (ห่าวยวิ่นเหนียนเหนียน) ...โชคดีตลอดไป

             一帆风顺 (อี้ฝานเฟิงซุ่น) ... ทุกอย่างราบรื่น

             幸福如意   (ซิ่งฝูหรูอี้) ... มีความสุขสมปรารถนา




การจุดประทัดในวันตรุษจีน





          ใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ของชาวจีน หรือ "วันตรุษจีน" กันแล้วนะคะ  เชื่อเลยค่ะว่าใครหลาย ๆ คน ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตารอยคอยเทศกาลแห่งความสุขที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า...  เพราะพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนจะได้พบปะญาติมิตร และได้ร่วมไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ รวมไปถึงไหว้เจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตต้อนรับปีใหม่ ส่วนเด็ก ๆ ในวัยเรียน ก็ได้ยิ้มกันแก้มปริ เพราะจะได้รับอั่งเปาซองแดง ๆ เป็นค่าขนมด้วยล่ะ นอกจากนี้ยังมีการแสดงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจุดประทัด หรือการเชิดสิงโต ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนสืบทอดกันมา

           เอ... ว่าแต่ว่า ทำไมชาวจีนจึงต้องจุดประทัด และเชิดสิงโตในวันตรุษจีนกันด้วยล่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็ขอนำเรื่องราวธรรมเนียมของชาวจีนมาฝากกัน ไปดูกันซิว่า การจุดประทัด และเชิงสิงโตในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน จะมีความเชื่อ และความหมายอย่างไรกันบ้าง

 การจุดประทัด 


ประทัด
    
           ประวัติ ความเป็นมาของการจุดประทัดในวันตรุษจีนนั้น เกิดขึ้นเมื่อในอดีตมีคนช่างคิดนำดินระเบิดใส่เข้าไปในบ้องไม้ไผ่เล็ก ๆ แล้วจุดไฟ จนเกิดเสียงดังสนั่นไปทั่ว คราวนี้บรรดาลูกเล็กเด็กแดงเมื่อได้ฟัง ก็พากันร้องไห้จ้าละหวั่น สุนัขสัตว์เลี้ยงทั้งหลายต่างพากันวิ่งหนีกันอลหม่าน จึงทำให้คนคิดว่า เสียงดังปัง ๆ ของประทัดจะสามารถไล่ตัว "เหนียน" ไปได้ 

          ส่วนเจ้าตัว "เหนียน" นั้นชาวจีนมีความเชื่อว่า เป็นสัตว์ร้ายชนิดหนึ่งที่มีร่างกายใหญ่โต มีลักษณะคล้ายวัวผสมกับแรด แถมยังมีนิสัยดุร้าย และมักออกหากินช่วงเวลากลางคืน ในวันที่อากาศหนาว ๆ เนื่องจากวันที่มีอากาศหนาวนั้นชาวบ้านจะมานั่งผิงไฟ หรือปิ้งย่างอาหารกันกลางหมู่บ้าน และเมื่อเจ้าเหนียนสัตว์ร้ายเห็น ก็จะรีบกระโจนมาแย่งอาหาร แต่ทันใดนั้นนั่นเอง กองไฟที่ทำจากไม้ไผ่ก็เกิดประกายไฟ แตกปะทุดังเปรี้ยงปร้าง เป็นเหตุให้เจ้าเหนียนหวาดกลัวและวิ่งหนีไปในที่สุด ส่วนชาวบ้านบางกลุ่มก็เชื่อว่า เจ้าเหนียนกลัวสีแดงของประกายไฟ จึงได้นำผ้าแดง และกระดาษแดง มาเขียนตัวอักษรถ้อยคำที่เป็นสิริมงคล ติดไว้ตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ เพื่อให้เหนียนเห็นแล้วไม่กล้าเข้าใกล้ ทั้งนี้ การเขียนกระดาษแดงก็เป็นที่นิยม และเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

         นอกจากชาวจีนจะเชื่อว่า "เหนียน" นั้นเป็นสัตว์ร้ายแล้ว คำว่า "เหนียน" ยังพ้องเสียงกับคำศัพท์ที่แปลว่า "ปี" ซึ่งคนจีนจะเชื่อว่า ช่วงสิ้นปีนั้น อากาศจะหนาวเย็นจัด ผู้คนมักไม่สบายกันมาก เพราะเจ้าตัวเหนียนออกอาละวาด ทั้งนี้การจุดประทัดเสียงดัง ก็น่าจะไล่เจ้าตัวเหนียน โรคภัยไข้เจ็บได้ และความอัปมงคลไปได้ ส่วนคนจีนบางกลุ่มก็เชื่อว่า การจุดประทัดนั้นเป็นการเรียกโชค ส่วนบางกลุ่มก็บอกว่า เป็นการจุดเพื่อให้เทพเจ้าได้ยิน ท่านจะได้มาช่วยคุ้มครองให้ชาวจีนอยู่เย็นเป็นสุข 

 การเชิดสิงโต 


วันตรุษจีน

          การเชิดสิงโต หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า "ไซ่จื้อบู่" นั้น ถือว่าเป็นการละเล่นที่เป็นสัญลักษณ์ของวันตรุษจีนเลยทีเดียว โดยเฉพาะชาวจีนตอนเหนือ และชาวจีนตอนใต้ ที่มักจะเชิดสิงโตในวันที่มีงานแห่เจ้า หรือพิธีเซ่นสังเวยของฝน

           ส่วนประวัติความเป็นมาที่ชาวจีนจะต้องเชิดสิงโตในวันตรุษจีนนั้น มีบันทึกของราชวงศ์ทางตอนเหนือและทางตอนใต้ในช่วง พ.ศ. 850 – พ.ศ. 1132 ระบุว่า ชาวบ้านได้นำหัวสิงโตมาสวมใส่และเชิดเพื่อไล่ผีร้าย ที่ชาวบ้านต่างพากันเชื่อว่า จะลงมากินผู้ชายและสัตว์เลี้ยง จึงก่อเกิดเป็นความเชื่อว่า ถ้าเชิดสิงโตแล้วจะสามารถไล่ภูตผีปีศาจได้ จึงได้ปฎิบัติกันเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานับตั้งแต่บัดนั้น

          สำหรับ การเชิดสิงโตในวันตุรษจีน จะมีกลุ่มชายรูปร่างแข็งแรงเดินเชิดสิงโตเพื่อขอเงินบริจาค โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มคนที่เล่นดนตรีประกอบ และกลุ่มคนที่สวมหัวสิงโต ชุดสิงโต และคนที่ใส่หัวแปะยิ้มถือพัด จากนั้นก็จะเดินผ่านไปยังถนนหนทางหมู่บ้าน พอชาวบ้านได้ยินเสียงกลอง ก็จะนำซองอั่งเปามาแขวนไว้บนยอดไม้สูง ๆ ซึ่งกลุ่มคนเชิดสิงโตก็จะต้องปีนหรือต่อตัวขึ้นไปหยิบซองดังกล่าว นับว่า เป็นประเพณีที่สนุกสนาน และน่าตื่นเต้นมากทีเดียว


สุดท้ายนี้ขอให้ทุกๆท่านมั่งมีศรีสุข เงินทองไหลมาเทมาอย่างได้พร่อง ขอให้มีความสุขตลอดปีมังกรนี้ นะครับ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น