วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิธีเจริญจิตภาวนา จากหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม


วิธีเจริญจิตภาวนา
จากหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม
บันทึกโดย พระโพธินันทะมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)
รวบรวมและเรียบเรียงโดย รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์
                                       ขวา ค้นศัพท์
        ผู้เขียน(Webmaster)ขอกราบอาราธนาคำสอนเรื่อง "วิธีเจริญจิตภาวนา" ของพระอริยเจ้า หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่บันทึกไว้ในหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม (หน้า๔๑๕) มาบันทึกไว้ ณ.ที่นี้ โดยครบถ้วนตามต้นฉบับเดิม  [แต่มีการเพิ่มเติมขยายความคำอธิบายของผู้เขียนโดยใช้อักษรสีนํ้าเงิน] และ เน้นข้อความของท่านที่เห็นความสำคัญโดยสีม่วง  นอกนั้นผู้เขียนได้คงไว้ตามต้นฉบับเดิมอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ [สำหรับท่านที่ต้องการอ่านข้อความของท่านหลวงปู่ล้วนๆโดยไม่มีคำอธิบายของ Webmaster สอดแทรก Linkได้ที่นี่]                
        นักปฏิบัติที่มีความเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท หรือ ขันธ์๕ โดยเฉพาะผู้ที่เห็น จิต(จิตสังขารหรืออาการของจิต เช่น ความคิด, ราคะ, โทสะ, โมหะ จิตปรุงแต่ง จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ฯลฯ - หาอ่านรายละเอียดได้ในบทสติปัฏฐาน๔หรือเห็น เวทนา) ในขณะใดๆบ้างแล้ว(จิตตานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนา) เช่น เห็นจิตหรือเวทนาขณะที่เกิดขึ้นบ้าง หรือขณะเสื่อม(แปรปรวน)บ้าง หรือขณะดับไปอย่างไม่มีแก่นแกนบ้าง ก็จะเข้าใจได้ง่าย  และขอให้โยนิโสมนสิการในความเป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ) หรือปรมัตถสัจจะที่เมื่อธรรมารมณ์หรือความคิดที่กระทบกับจิตแล้ว ย่อมเกิดผลขึ้นเป็นธรรมดา  ประดุจเดียวกับการที่สิ่งต่างๆกระทบกับกาย (โผฏฐัพพะ-กายผัสสะกับสิ่งต่างๆ) ก็จะยังประโยชน์แก่นักปฏิบัติอย่างสูง
พนมพร

วิธีเจริญจิตภาวนา ตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

        ๑. เริ่มต้นอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก  [ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบการปฏิบัติสมถสมาธิ  ทำในขณะจิตตื่นปกติในวิถีชีวิตประจำวันได้ ในช่วงว่างๆ ใจสงบ สบาย แค่ไม่ซัดส่ายส่งออกไปปรุงแต่งในเรื่องต่างๆนาๆ  หรือถ้าต้องการใช้สมาธิก็ใช้ระดับขณิกสมาธิก็พอเพียงแล้ว การใช้สมาธิที่ลึกละเอียดมักจะทำให้เกิดภวังค์และนิมิต เลื่อนไหลไปท่องเที่ยวอยู่ในจิตภายในอันเป็นปฏิปักษ์กับการเจริญวิปัสสนานี้]
        ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว อย่างเดียว
[มีสติแค่รู้อยู่อย่างสบายๆ  แต่ก็ไม่คิด,ไม่คิดนึกปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น  ใหม่ๆก็ยากหน่อยเป็นธรรมดา  เพราะธรรมชาติของจิตปุถุชนโดยทั่วไป ย่อมมักจะส่งส่ายออกไปคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ หรือปรุงแต่งตามสิ่งที่มาผัสสะผ่านทางอายตนะภายใน อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ]
        รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ  อย่าบังคับ  อย่าพยายาม  อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม
[คือ อย่าปล่อยให้เลื่อนไหลไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง หรือการเลื่อนไหลไปตามกำลังอำนาจสมาธิที่ลึกเกินไป เช่น ภาพนิมิต หรือนามนิมิตเช่นความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ผุดขึ้นขณะอยู่ในสมาธิที่ลึกเกินไป  และระวังอาการจิตที่เรียกว่าจิตส่งใน]
        เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ  [แส่ไปตามความคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆ   หรือการสอดแส่ไปใน อารมณ์ อันหมายถึงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกต่างๆที่มากระทบได้] โดยไม่มีทางรู้ทันก่อนเป็นธรรมดา  [จึงหมายถึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกต้องไม่ต้องกังวล  และจะเกิดอย่างนี้เป็นประจำเสมอๆ แต่อย่าท้อแท้เพราะเป็นเช่นนี้เป็นธรรมดา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง]สำหรับผู้ฝึกใหม่  ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง [ทำดังนี้ให้เชี่ยวชาญชำนาญยิ่ง]  เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่[มีสติ] และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ [จิตที่สอดแส่ไปคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ  หรือปรุงไปใน รูป เสียง ฯ.ที่กระทบ] ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร  เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ [คือสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่าง จิตมีความรู้ตัวอยู่กับที่คือมีสติ  กับ  จิตขณะปรุงแต่งย่อมเกิดการผัสสะจึงย่อมเกิดเวทนาต่างๆเป็นสุขเป็นทุกข์ขึ้นเป็นธรรมดา จึงย่อมเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน  อันจะยังให้เกิดปัญญาหรือญาณอันสำคัญยิ่ง จากการได้เห็นได้หยั่งรู้ได้ด้วยตัวตนเอง-ปัจจัตตัง]
        จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป [มีสติ  รักษาสติอย่าให้เลื่อนไหลไปสู่สมาธิหรือฌานที่ลึกละเอียดประณีต  เพราะ ณ ขณะนี้เป็นการฝึกสติให้เห็นจิต อย่างต่อเนื่อง มิใช่การมุ่งเน้นทำสมถสมาธิ แต่เป็นการมุ่งเน้นวิปัสสนา ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก [เป็นธรรมดาโดยธรรมชาติของจิต อีกเช่นเดิม เพราะย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆทีเดียวเป็นธรรมดา จึงไม่ต้องท้อแท้หรือหงุดหงิดเมื่อเกิดขึ้น  แต่เมื่อจิตปรุงแต่ง]จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป [ขณะที่จิตอิ่มตัว แล้วกลับมารู้ตัวหรือมีสตินั้น  ต้องอุเบกขา คือไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดกริยาจิตใดๆในเรื่องนั้นอีกด้วย]
        ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิ [เป็นสัมมาสมาธิ เพื่อการวิปัสสนา ที่ไม่ได้มุ่งหวังในความสงบสุขสบายแต่อย่างใด] ในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต" [กริยา อาการ และการกระทำของจิต] โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร [อันจะสั่งสมจนเกิดเป็น สังขาร อันมิได้เกิดแต่อวิชชา  แต่เป็น สังขารที่เกิดแต่วิชชาที่จะนำพาให้พ้นทุกข์อย่างถาวรต่อไป]
        ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป  [เพราะการปฏิบัติขณะจิตฟุ้งด้วยกำลังแรงกล้า ก็จะไม่บังเกิดผลเพราะใจที่ซัดส่ายและเพราะขาดความชำนาญ หรือขาดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในขั้นต้น  ดังนั้นเมื่อไม่เห็นผลได้ด้วยตนเองก็ย่อมเกิดความท้อแท้ หรือวิจิกิจฉาว่าไม่ถูกต้อง อันย่อมบั่นทอนความเชื่อความเข้าใจไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติครั้งต่อๆไป]
[ผู้ที่เห็นจิต - จิตสังขาร - สังขารขันธ์อันคือความคิดความนึก และเวทนา ได้แล้วและค่อนข้างสมํ่าเสมอจากความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์๕ อาจข้ามไปที่ข้อ ๒ เลย]
        ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ [เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติในแนววิปัสสนาให้เห็นจิต หรือความคิดความนึก หรือเพราะยังไม่มีสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง] ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต
        พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง [เป็นอุบายวิธีเพื่อหาที่ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นสัมมาสมาธินั่นเอง]
        ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว
        เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึก(ความคิดนึก)ชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้
        ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นสู่อารมณ์ทันที
        เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเองก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง
        ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ เจตจำนงนี้ คือ ตัว "ศีล" [ข้อกำหนด ข้อบังคับ ตั้งเจตนาเพื่อให้มีความตั้งใจอันแน่วแน่]
        การบริกรรม "พุทโธ" เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป
        แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
        ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่อง ถึงความชัดเจน และความไม่ขาดสายของพุทโธ จะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ
        เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคย เปรียบไว้ว่า มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย [แต่ก็ต้องนุ่มนวล ไม่ตึงเครียดจนเกิดอาการต่างๆ]
        เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลา และบั่นทอนความศรัทธาตนเองเลย
        เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ [เช่น การคิดนึกปรุงแต่ง,รูป,เสียง ฯ.] ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าว ก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ
[คำบริกรรม  พุทโธ  ก็คือ จิตสังขารหรือสังขาร(สิ่งปรุงแต่ง)อันเกิดแต่จิต หรือความคิดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการบริกรรมภาวนาอย่างมีสติ ไม่เลื่อนไหลไปคิดปรุงหรือเลื่อนไหลลงภวังค์ จึงเท่ากับเป็นการฝึกจิตหรือสติโดยตรง ให้เห็นจิต หรือจิตตสังขาร หรืออาการของจิตบางประการ-เจตสิก]
        บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง  สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น