วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โลกทั้งโลกไม่มีอะไรสุข มีแต่ทุกข์ นี่คืออริยสัจ


สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. พิจารณาไปเถิด วงจรชีวิตของบุคคลทั่วไป จักเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง โลกทั้งโลกไม่มีอะไรสุข มีแต่ความทุกข์เป็นที่รับรอง นี่คืออริยสัจ เห็นธรรมภายนอก แล้วจงน้อมเข้ามาถึงธรรมภายใน แม้จักวางจิตให้คลายจากการเกาะติดอกุศลกรรม ยังไม่ได้สนิทเลยทีเดียว ก็จักเข้าใจในกฎของกรรมของเการกระทำทั้งความดีและความชั่ว

๒. การพิจารณาจักมีเหตุ มีผลให้เห็นกฎของกรรม ก็จักเป็นปัจจัยให้เกิดเบื่อหน่ายการมีร่างกายได้เช่นกัน และเข้าใจในกรรมใครกรรมมันได้ชัดเจนจนลงตัวธรรมดา หรือเข้าหาอริจสัจหรือกฎของกรรมได้ดีขึ้น แต่จักให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ก็พึงศึกษากฎของกรรมของตนเองเป็นดีที่สุด เช่นสัทธรรม ๕, โลกธรรม ๘ เป็นต้น

๓. หากศึกษากรรมของตนจนเป็นที่เข้าใจ จิตจักมีหิริโอตตัปปะสูงขึ้น ละอายและเกรงกลัวผลของกรรมชั่ว จักไม่กล้ากระทำกรรมทั้ง ๓ ประการ คือ มโนกรรม-วจีกรรม-กายกรรมสืบต่อไป อีกทั้งทำให้พรหมวิหาร๔ ทรงตัว

๔. เมื่อเข้าใจกฎของกรรม ก็จักเมตตา-กรุณา รักและสงสารจิตของเราที่โง่มานานแล้ว เพราะตกอยู่ภายใต้อกุศลกรรม ทำให้ต้องมาเกิดมีร่างกายให้พบกับกฎของกรรมอยู่ทุกวันนี้ ความรักและสงสารนี้ หากมีกำลังให้ตนเองทรงตัวแล้ว ก็จักเผื่อแผ่ไปยังบุคคลอื่นด้วย ยิ่งเห็นใครทำชั่วมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งสงสารมากขึ้นเท่านั้น เพราะจิตมีเมตตา กรุณา เห็นโทษเห็นทุกข์อันจักเบียดเบียนแก่ผู้กระทำกรรมนั้นในที่สุดสำหรับตัวมุทิตาก็มีกำลังมากขึ้น เพราะจิตระงับกรรมที่เป็นอกุศลได้ คือ โกรธ-โลภ-หลง จิตจึงสงบเยือกเย็น ตัวมุทิตาที่มีในจิตตนย่อมแผ่ไปถึงผู้อื่นด้วย จิตมีแต่ความหวังดี ความหวังร้ายหมดไป เพราะเห็นกฎของกรรม เห็นอริยสัจ เห็นเป็นธรรมดาไปหมด ในที่สุดอุเบกขา เห็นกรรมใครกรรมมันว่า กรรมนั้นไม่ผูกพันหรือผูกพันกับเรา จิตมีปัญญาเป็นผู้รู้ จักเห็นกฎของกรรมได้เด่นชัดมาก

๕. คำว่า ผู้รู้ มิได้หมายถึง มีแต่เฉพาะพระตถาคตเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ที่ตรัสนี้รวมไปถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ผู้รู้ตามพระพุทธเจ้าด้วย อุเบกขาขั้นสูง มีกำลังสูง เป็น สังขารุเบกขาญาณ จึงเผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่นที่ประสบกฎของกรรมที่เขากระทำนั้นๆ ผู้รู้ในขั้นสูงนี้ ย่อมไม่ฝืนกฎของกรรม และจักรู้ว่าควรสงเคราะห์หรือไม่ควร มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับการสงเคราะห์นั้น ๆ

๖. การประพฤติปฏิบัติในพรหมวิหาร๔ ของท่านผู้รู้ ย่อมไม่เสียเปล่า เพราะท่านรู้แจ้งในกฎของกรรม และอริยสัจนั่นเอง คือ เห็นโลกทั้งโลก ชีวิตทุกชีวิตหนีกฎของกรรมไปไม่พ้น ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว ไม่มีเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปได้เลย

๗. ถ้าเข้าใจธรรมในธรรมเหล่านี้ จิตจักเคารพในกฎของกรรม สามารถเข้าใจและพิจารณาให้เข้ากับพระธรรมคำสั่งสอนได้อย่างดี จักเห็นผลของการละเมิดพระธรรมวินัย หรือศีล ๕, กรรมบถ ๑๐ ชัดขึ้น ๆ จนหมดความสงสัยในเรื่องของกฎของกรรมว่าเที่ยงเสมอและให้ผลไม่ผิดตัวด้วย เพราะจิตมันกลัวบาปเสียอย่างเดียว (หิริ - โอตตัปปะหรือ เทวธรรม มีกำลังสูง) จักหยุดกรรมทั้ง ๓ ประการได้หมด หากทำได้อำนาจของอริยสัจก็เต็มกำลังเข้าถึงใจ ปัญญาขั้นสูงก็พิจารณาทุกข์ได้จนถึงที่สุด

๘. สำหรับพวกเจ้า ย่อมยังมีอารมณ์เผลออยู่บ้างเป็นธรรมดา เพราะหากไม่เผลอเลยเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ จึงมิใช่ของแปลกเมื่อเผลอ แต่จงอย่าละความเพียรเสียอย่างเดียว หมายถึงในทางที่ถูก อย่าเพียรทำกรรมชั่ว ให้เพียรละกรรมชั่ว โดยมีศีล-สมาธิ-ปัญญาเป็นบรรทัดฐาน และที่ไม่ได้ผลเพราะบารมี ๑๐ ไม่ทรงตัว พรหมวิหาร ๔ ก็ไม่ทรงตัว อิทธิบาท ๔ หย่อนยาน จิตไปเกาะกรรมที่ร่างกายต้องประสบมากไป รวมทั้งไม่วางกรรมของผู้อื่นที่เข้ามากระทบด้วย จึงเท่ากับไม่ยอมรับกฎของกรรม และอริยสัจอย่างจริงใจ นี่ก็เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติธรรมของพวกเจ้าจุดใหญ่

๙. หากอยากเป็นคนฉลาด ก็จงอย่าทิ้งอริยสัจ หรือกฎของกรรม จักได้เป็นผู้รู้เต็มกำลัง คือ จบกิจในชาติปัจจุบัน ถ้าอยากเป็นคนโง่ ก็จงคิดสะเปะสะปะ เกาะโน่น คว้านี่ ไม่ปล่อยวางกรรม ก็จงอยู่เกิดอยู่ตายกันต่อไป ดังนั้น เวลาจักพูดถึงกฎของกรรม หรืออริยสัจ ๔ ในระดับนี้ จักต้องเลือกผู้ฟัง และจักต้องรู้ถึงภูมิฐานของการปฏิบัติธรรมของผู้นั้นด้วย จักเสียเวลาเปล่า จงอย่าลืมการวัดกำลังจิตของบุคคล จักต้องใช้หลักตัดสังโยชน์ ๑๐ เป็นหลักสำคัญ การเข้าถึงมรรคผลมี ๘ ระดับ คือมรรค ๔ ผล ๔ อย่าพูดโดยการเหวี่ยงแหคลุมเอา เพราะจักไม่ได้ปลาเลย ต้องเห็นระดับจิตของผู้ฟังหรือคู่สนทนาก่อน คือ เห็นตัวปลาก่อน จึงจักเหวี่ยงแหลงไป

๑๐. ถ้าจิตเราสงบมากเท่าใด คือ อย่าให้อุปาทานครอบงำจิต มีศีล - สมาธิ - ปัญญาแจ่มใสระงับนิวรณ์ ๕ ได้ดี เห็นภาพพระแจ่มใส ขอบารมีพระพุทธองค์คุมจิตในขณะนั้น ให้จิตใสเหมือนกระจกเงา ภาพอะไรผ่านมาจักเห็นได้ชัด การขอบารมีพระคลุมจิตอยู่นั้น การสนทนาธรรมก็จักมีผลดี และจงอย่าตำหนิกรรมของผู้ที่เข้ามาร่วมสนทนา เมื่อทราบระดับจิตของผู้นั้นแล้ว จงพิจารณาว่านี่เป็นธรรมดาของเขา ตำหนิกรรมเข้าเมื่อใด อุปาทานจักเกิดขึ้นเมื่อนั้น อคติจักเกิดขึ้นในจิตเราเอง เป็นการไม่เคารพกฎของกรรม ไม่เคารพอริยสัจ คำว่า อคติไม่เอียงซ้าย - ไม่เอียงขวา คือ ราคะกับปฏิฆะ หากทำได้จิตจักสงบในขณะสนทนาธรรม ไม่หวั่นไหวในธรรม มีความมั่นคงในธรรม คือ ยอมรับกฎของกรรม หรือธรรมในธรรมของแต่ละบุคคล ยอมรับธรรมในธรรมของตนเอง จึงจักได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทา

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

หนังสือ “ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น” เล่มที่7

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น