วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จิต

จิต เป็นสังขารธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ปรุงแต่งได้ และมีลักษณะเกิดดับอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย (รายละเอียดในเรื่องนี้ มีปรากฎชัดในพระอภิธรรมซึ่งหาอ่านได้ไม่ยากนักครับ)จนดูเหมือนว่าจิตนั้นดำรงอยู่อย่างนั้นอย่างไม่เคยดับเลย และเป็นที่รับรู้หรือได้ยินได้ฟังมาว่า "จิตคือธาตุรู้" หรือ "จิตคือธรรมชาติรู้" แต่ธรรมชาติของจิตเองหาได้เป็นเพียงแค่ "รู้" เพียงอย่างเดียวไม่ แต่มีอย่างอื่นๆที่เป็นธรรมชาติของจิตด้วย

เมื่อมีผัสสะ และจิตออกรู้ไปในทวารต่างๆแล้ว จิตจะปรุงแต่งธรรมใดธรรมหนึ่งขึ้นมาด้วย คือ เวทนา ไม่ว่าจิตนั้นจะประกอบไปด้วยปัญญาหรืออวิชชา ล้วนแต่ต้องปรุงแต่งเวทนาขึ้นมาด้วยทั้งนั้น อันนี้เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิตเช่นกัน แต่เวทนาที่จิตปรุงแต่งขึ้นนี้ จำกัดเฉพาะเวทนาทางใจเท่านั้น มิได้รวมเวทนาทางกายไว้ด้วย (สังเกตได้โดยง่ายได้ว่า เวทนาทางใจ มักปรากฎอยู่บริเวณกลางทรวงอก อาจจะเคลื่อนไปทางลิ้นปี่ ท้องส่วนบน หรือทรวงอกส่วนบนได้บ้างในบางเวลา บางเหตุการณ์ หากแต่เวทนาทางกายนั้น จะพบว่ามีอยู่โดยทั่วไปแทรกอยู่ตามเนื้อตามตัว บางครั้งมีทั้งเวทนาทางกายและทางใจที่คล้ายๆกันเกิดขึ้น จนเหมือนว่ามีเต็มไปหมดทั้งตัว จนแยกไม่ออก ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับการแยกเรื่องเวทนาทางกายหรือทางใจ)

จิตที่ปรุงแต่งเวทนานี้ เกิดขึ้นไม่จำกัดบุคคล แม้แต่พระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสแล้วก็ตาม ดังนั้น สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ทางใจ ย่อมเกิดขึ้นได้กับพระอรหันต์ด้วย สวนเวทนาทางกายนั้นมีอยู่แล้ว ไม่ต้องวินิจฉัย เพราะกายมีอยู่

ผู้คนบางพวกเข้าใจว่า พระอรหันต์ต้องไม่ยิ้ม ต้องเป็นเหมือนเสาหรือตอไม้ ปราศจากความรู้สึกใดๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิดเรื่องเวทนา

บางพวกถึงกับไปเข้าใจว่า เป็นพระอรหันต์แล้วต้องเป็นอัมพาต (หากมีชีวิตอยู่) เพราะต้องหมดความรู้สึก ซึ่งตรงนี้เป็นความเข้าใจผิดเรื่องผัสสะ

เมื่อจิตออกรู้ไปตามทวารต่างๆแล้วปรุงแต่งให้เกิดเวทนานั้น ตามความเป็นจริงแล้ว สัญญาก็ถูกปรุงแต่งออกจากจิตด้วย เพื่อหมายรู้ในผัสสะนั้น แล้วจึงจะปรุงแต่งเวทนาออกมาได้ และในบางทีก็มีการปรุงแต่งความคิดออกมาด้วย (ตรงนี้ผมไม่ได้แย้งในปฏิจจสมุปบาทครับ หากแต่เพิ่มเติมตามที่ได้รู้มา)

การปรุงแต่งของจิตที่ให้เป็นสัญญาขันธ์ และเป็นสังขารขันธ์ นั้นมีอยู่ และไม่จำกัดว่าเป็นเฉพาะของผู้ยังไม่สิ้นกิเลสเท่านั้น ดังนั้นแม้เป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว ก็ยังสามารถจำได้ พูดได้ คิดได้ เพราะขันธ์ทั้ง 5 มิได้หายไปไหน มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นคราวๆตามผัสสะที่มีมา

และตรงนี้ก็เป็นธรรมชาติของจิตล้วนๆ ไม่ต้องแบ่งเป็นธรรมชั้นไหน เพราะเป็นไปกับจิตทุกดวงที่ยังเกิดดับๆไม่รู้จบอยู่ และไม่ว่าจะสิ้นกิเลสไปแล้วหรือไม่

สิ่งที่ธรรมชาติของจิตมีความแตกต่างในการดำเนินไปนั้นมีอยู่หลังจากนี้ กล่าวคือ เมื่อจิตรู้อารมณ์แล้ว จิตจะทะยานอยากเข้าไปยึดถือในอารมณ์ว่าเป็นตนของตนหรือไม่

จิต ทะยาน-อยาก(คือ ตัณหา) เข้ายึดถือ  (คืออุปาทาน) อารมณ์ มาเป็นตน(คือ ภพ-ชาติ) เมื่อใด ทุกข์ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ตรงตามปฏิจจสมุปบาทสายสมุทัย ไม่ผิดเพี้ยน และเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้ว จิตเองก็ไม่สามารถหนีออกจากทุกข์นั้นได้ แม้ตนเองไม่ปราถนาทุกข์อันนั้น จำต้องเสวยทุกข์อันนั้นไป จนกว่าทุกข์นั้นๆจะดับไป แม้ว่าทุกข์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเองก็ตาม

แต่หากจิตไม่ทะยานอยาก ก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น และรวมทั้งทุกข์ด้วย

ดังนั้นธรรมชาติของจิต เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

1. มีความทะยานอยาก
2. ไม่มีความทะยานอยาก

ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์ เพราะตัวทะยานอยาก หรือ ตัณหา จึงเป็นทุกขสมุทัยแท้จริง จึงเป็นสิ่งที่ควรละ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ชัดเจนแล้วในเรื่องกิจในอริยสัจจ์ แต่จะละอย่างไร? เราจึงควรดูที่มูลเหตุของ ทะยาน-อยาก กันก่อน

อะไรคือมูลเหตุของความทะยาน-อยากของจิต
จิตพุ่งทะยานออกไปอยากก็เพราะจิตเข้าใจว่า สิ่งนั้นๆเป็นสุข เป็นสิ่งที่ยั่งยืน หรือจิตมีอำนาจเข้าบังคับควบคุมได้ตามปราถนาของจิต ซึ่งจริงๆแล้วกล่าวอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องนักครับ เพราะตอนที่จิตทะยานอยากออกไปนั้น จิตไม่ได้คิดอะไรมากกว่า จิตไม่ได้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรมากกว่า ซึ่งที่จริงควรจะกล่าวว่า "จิตพุ่งทะยานออกไปอยากก็เพราะจิตไม่เข้าใจว่า สิ่งนั้นๆเป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงไม่อยู่ยั่งยืน หรือจิตไม่มีอำนาจเข้าบังคับควบคุมได้ตามปราถนาของจิต"

หรือกล่าวสั้นๆว่า จิตไม่รู้(ความเป็นจริง) หรือ จิตโง่ ก็ได้

ไม่มีจิตดวงใดอยากเป็นทุกข์ แต่ที่ต้องแบกทุกข์ก็เพราะไม่รู้ว่านี่คือการหาทุกข์มาแบก ดังนั้นเมื่อต้องการให้จิตเลิก "หาเหาใส่หัว" ก็ต้องทำให้จิตฉลาดขึ้น จนฉลาดถึงที่สุด เมื่อจิตฉลาดจนถึงที่สุด จิตก็จะได้เลิก "หาเหาใส่หัว" ซึ่งก็คือการเลิก "ทะยาน-อยาก"นั่นเอง

เลิกทะยาน-อยาก(ละตัณหา)ทำอย่างไร
จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า จิตมีธรรมชาติอยู่ 2 ประการคือ
1. มีความทะยานอยาก
2. ไม่มีความทะยานอยาก
หลังจากที่มีผัสสะ ดังนั้นจิตย่อมมีความเป็นไปโดยธรรมชาติของจิตเองซึ่งไม่มีใครไปสั่งหรือบังคับได้ (จิตเป็นสังขารธรรม ดังนั้นจิตเองก็เป็นอนัตตา) ว่าให้ทะยานอยาก หรือไม่ทะยานอยาก

วิธีการที่จะทำให้จิตเลิก ทะยาน-อยาก ก็คือ ทำให้จิตฉลาดขึ้น หรือ ฉลาดจนถึงที่สุด ว่า สิ่งทั้งหลายที่จิตทะยานอยากไปนั้น "เป็นทุกข์" "มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง" และ "ยึดถือเอามาเป็นตนหรือของตนไม่ได้" ซึ่งก็คือการพิจารณาในธรรมทั้งหลายว่าเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง

การปฎิบัติธรรมจึงมิใช่การบังคับจิต มิให้ทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แต่แท้จริงแล้วเป็นไปเพื่อให้จิตรู้ความจริงของธรรมชาติอย่างแท้จริงเท่านั้น เพื่อให้จิตเลิก ทะยาน-อยากในสิ่งต่างๆเท่านั้น ซึ่งจิตจะเลิก ทะยาน-อยาก ได้ เมื่อจิตได้รู้ได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า สิ่งทั้งหลายที่จิตเคย ทะยาน-อยาก ไปนั้น ล้วนแต่เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งสิ้น เมื่อจิตได้รู้ได้เห็นเช่นนั้นแท้จริงแล้ว ทะยาน-อยาก ก็จะไม่มีอีก ทุกข์ก็จะไม่มีอีกต่อไป

ดังนั้นเราจึงควรกำหนดรู้ทุกข์ให้มาก ซึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้ในกิจอริยสัจจ์อยู่แล้ว ว่า ทุกข์ให้กำหนดรู้

เมื่อจิตกำหนดรู้ทุกข์จนมีความฉลาดจนถึงที่สุด จิตก็จะละ ทะยาน-อยากออกไปจนหมดสิ้น ภพ-ชาติ อันเป็นผลพวงจาก ทะยาน-อยาก ก็จะไม่มี กิจในอริยสัจจ์ก็จบเพียงนี้ ไม่มีกิจใดที่ต้องทำอีก แม้แต่พรหมจรรย์ก็จบสิ้นลงแต่เพียงนั้น ดังนั้นเราจึงควรกำหนดรู้ทุกข์

กำหนดรู้ทุกข์ทำอย่างไร
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีการกำหนดรู้ทุกข์ไว้มากมาย ปรากฎทั่วไปหมดในพระไตรปิฏก แต่หากจะตอบรวบรัด ก็คือ การปฎิบัติตามมหาสติปัฎฐานสูตร นั้น คือการกำหนดรู้ทุกข์ เป็นทวารแห่งการพ้นทุกข์ เป็นทวารแห่งความหลุดพ้น ซึ่งพุทธศาสนิกชนควรก้าวเข้าไปทุกผู้ทุกคน ส่วนรายละเอียดนั้นมีแสดงไว้มากมายอยู่แล้ว แม้แต่ในลานธรรมฯแห่งนี้ จึงขอให้ท่านผู้สนใจเลือกอ่านและเลือกกำหนดรู้ทุกข์ตามความถนัดเถิดครับ

ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น