วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เลือกใช้คำพูดอย่างไรถูกอกถูกใจ “ลูกวัยโจ๋”

เลือกใช้คำพูดอย่างไรถูกอกถูกใจ “ลูกวัยโจ๋”:


































ขอบคุณภาพประกอบจาก theglobeandmail.com


“เออ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นก็อย่ามาให้พ่อ/แม่แก้ให้แล้วกัน”

“ทำไมขี้เกียจ เหลวไหลแบบนี้ บอกกี่หนแล้วเรื่องให้รู้จักเก็บ”

“ทำเป็นรู้ดี ว่าอะไรก็เถียงตลอด”

“บ้านช่องอยู่ไม่เป็นเลย งานบ้านก็ไม่เคยช่วยทำ”

ฯลฯ

เป็นเพียงตัวอย่างประโยคคำพูดที่เชื่อว่าพ่อแม่จำนวนไม่น้อยเคยใช้ กับลูก และทำให้ใครหลายคนต้องโมโห และปรี๊ดแตกมาแล้วเมื่อลูกทำเป็นไม่ฟัง แถมยังชักสีหน้าใส่อีก นั่นหมายความว่า พ่อแม่ต้องกลับมาทบทวนตัวเองในการใช้คำพูดกับลูกเสียใหม่ เพราะหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ความสัมพันธ์ และความไว้วางใจของลูกที่มีต่อพ่อแม่อาจลดหายลงไปได้

วันนี้ ทีมงาน Life & Family มีเทคนิคดี ๆ ในงานอบรมหลักสูตรพ่อแม่เรื่องการสื่อสารกับลูกวัยรุ่นขององค์กรแพธมาฝากกัน ซึ่งมีเรื่องหลัก ๆ ที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจในการพูดคุยกับลูกวัยรุ่น ดังต่อไปนี้

- เป็นเรื่องธรรมดาของวัยรุ่นที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง คิดในมุมของลูกบ้างว่า ทำไมถึงทำเช่นนั้น พยายามเอาใจวัยรุ่นมาใส่ใจเราดูบ้าง โดยเตือนตัวเองไว้ว่า “ฟังลูกก่อนสิ”

- ความรู้สึกของพ่อแม่ในขณะที่กำลังจะตักเตือนลูก จะมีสองอารมณ์ร่วมกันเสมอ คือ โกรธ และยังไงก็รัก

- ความหวังดี และห่วงใยของพ่อแม่ เป็นความรู้สึกดี ๆ ที่ควรสื่อสารให้ลูกรับรู้ แต่ควรมีเทคนิคในการสื่อสาร หรือตักเตือนโดยใช้ “ปิยวาจา” คือ แสดงความหวังดีที่มาจากใจ เพราะทุกครั้งที่พ่อแม่ติลูกก็เพื่อสร้างพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกไม่ใช่การ โยนความผิดว่า “ลูกไม่เอาถ่าน”

- คิดให้ดีก่อนว่าถ้าแสดงออกกับลูกไปอย่างนั้น จะส่งผลให้เกิดอะไรตามมาบ้างกับความสัมพันธ์กับลูก อย่าลืมว่าความใกล้ชิดความไว้วางใจที่ลูกมีต่อเรานั้นสำคัญมาก และจะช่วยให้ลูกปลอดภัยจากพฤติกรรมเสี่ยงได้ ดังนั้น คำพูดว่ากล่าวจะยิ่งทำให้ลูกวัยรุ่นแยกตัวจากพ่อแม่มากกว่าจะเข้ามาพูดคุย ด้วย และแทนที่จะเป็นฝ่ายพูดเองทั้งหมด พ่อแม่ควรหาวิธีทำให้ลูกเป็นฝ่ายคิด

ยกตัวอย่างเช่น หากลูกชายนำสมุดรายงานผลการเรียนที่ไม่ดีกลับมาบ้าน ให้ถามว่าลูกคิดจะจัดการอย่างไรกับสถานการณ์นั้น พูดเพียงสั้น ๆ และแสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เชื่อมั่นในความสามารถของเขา

- ยอมรับว่า บางครั้งพ่อแม่ก็อาจทำเกินไป ให้เวลาตัวเองสงบสติอารมณ์ และเข้าไปคุยกับลูกใหม่ด้วยน้ำเสียงท่าทีที่อ่อนโยนขึ้น และถ้าสามารถพูดขอโทษลูกได้ก็บอกให้ลูกรู้

- เวลาที่อยู่กับครอบครัวจะน่าพอใจยิ่งขึ้นหากเป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าต้องไม่ มีการทุ่มเถียงกัน ฉะนั้น เมื่อพูดจบแล้ว ก็คือจบจริง ๆ อย่ารื้อฟื้นหรือพูดถึงภายหลังอีก เช่น เรื่องการเรียนของลูกที่ ได้คะแนนต่ำ พ่อแม่ต้องไม่ พูดถึงผลการเรียนคะแนนต่ำของลูกที่โต๊ะอาหาร

- ให้ลูกมีเวลาเป็นส่วนตัวบ้าง เพื่อให้ลูกได้ทบทวนถึงเรื่องที่เกิดขึ้น

- มองหาเพื่อน ญาติพี่น้อง คนข้างๆ ที่เข้าใจเรา เพื่อปรับทุกข์เมื่อรู้สึกเหนื่อยหรือหงุดหงิดกับพฤติกรรมลูก และเรียนรู้จากคนเหล่านั้นว่าเขามีวิธีจัดการกับความหงุดหงิดอย่างไร




















ขอบคุณภาพประกอบจาก mysahana.org


เมื่อเข้าใจหลักเบื้องต้นใน การสื่อสารกับลูกวัยรุ่นแล้ว ทีนี้ลองมาดูองค์ประกอบสำคัญของการสื่อสารสองทางกันบ้าง ซึ่งมีรายละเอียดที่พ่อแม่ควรนึกถึงเวลาคุยกับลูกดังต่อไปนี้

- ใช้คำพูดที่แสดงความเป็นห่วง โดยแทนด้วยความรู้สึกของผู้พูดเอง เช่น “แม่เสียใจที่….” “พ่อไม่สบายใจเลยที่…”

- ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้โอกาสอีกฝ่ายตอบแบบอธิบาย หรือเปลี่ยนจากประโยคบอกเล่าเป็นคำถาม เพื่อเปิดให้มีการสนทนา เช่น “…ลูกไม่เข้าใจตรงไหนที่แม่พูดไป” “ไหนลองบอกเหตุผลสิว่าเป็นเพราะอะไร” “อะไรทำให้คิดแบบนั้น”

- สื่อสารโดยบอกความต้องการชัดเจนว่า ผู้พูดต้องการเห็นพฤติกรรมอะไร เช่น “ถ้าจะกลับบ้านดึก ต้องโทรบอกก่อนล่วงหน้า”

- ให้เหตุผลที่ชัดเจน เมื่อไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอีกฝ่ายเช่น “พ่อไม่สบายใจที่ลูกกลับบ้านดึก เพราะ….”

- ขอความเห็นจากอีกฝ่ายว่าต้องการเห็นทางออกอย่างไรบ้าง เช่น “ลองบอกสิว่าอยากให้พ่อแม่ทำยังไงกับเรื่องที่ลูกไม่โทรมาบอกล่วงหน้าว่าจะ กลับบ้านดึก” หรือ “มาช่วยกันทำห้องให้สะอาดดีไหม”

- ควบคุมน้ำเสียงให้อยู่ในโทนฟังแล้ว “รื่นหู” รวมทั้งแสดงสีหน้า สายตา น้ำเสียง ที่ชวนให้อยากสนทนาด้วย

นอกจากนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยง และควรใช้ให้น้อยที่สุด คือ การตำหนิ โดยใช้ถ้อยคำรุนแรง แสดงท่าที น้ำเสียง อารมณ์ ที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ดีหรือรู้สึกว่าถูกตัดสินไปแล้ว โดยไม่ได้ต้องการคำอธิบาย เช่น

- ใช้คำพูดจับผิด ใช้คำพูดดักคอ ใช้ประโยคคำสั่ง เช่น “บอกมานะว่า…” “อย่าให้รู้เชียวนะว่า….”

- ใช้การถามนำ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายอธิบาย เช่น ประโยคที่ลงท้ายว่า “…ใช่หรือเปล่า”

- ท่าทีกิริยาอาการแสดงออกชัดเจนว่า “ไม่ยอมรับฟัง” องค์ประกอบเหล่านี้เป็นการปิดกั้นทำให้ไม่เกิด “การสนทนา” เพราะผู้พูดยึดกุมการพูดไว้ฝ่ายเดียว ลักษณะของการใช้คำพูดและการแสดงออกทำให้อีกฝ่ายไม่กล้าสื่อสารหรือบอกความ จริง ความหมายของการ “ตักเตือน” ในที่นี้คือ การใช้คำพูดที่ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง ซึ่งเป็นการสื่อสารในเชิงบวก เป็นการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย โต้ตอบกัน

รู้หลักการสื่อสารแบบนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่น ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น