วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

AFP ชี้ กรุงเทพฯ เสี่ยงจมบาดาล ภายในปี 2593



เอเอฟพีระบุ กทม.เสี่ยงจมบาดาล ภายในปี พ.ศ.2593 เหตุน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 19-29 ซม. ขณะที่พื้นดินทรุดลงเรื่อย ๆ
เมื่อ วันที่ 7 พฤศจิกายน สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายหลายคนได้วิเคราะห์ว่า สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยขณะนี้ แสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงขึ้น และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป กรุงเทพมหานคร มีสิทธิ์จะจมอยู่ใต้ทะเลทั้งเมือง
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่า เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ห่างจากอ่าวไทยราว ๆ 30 กิโลเมตรเท่านั้น และผลจากภาวะโลกร้อน ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี ค.ศ.2050 หรือ พ.ศ.2593 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 19-29 เซนติเมตร หรือประมาณ 7-11 นิ้ว ซึ่งแน่นอนว่ากรุงเทพมหานครเสี่ยงต่อการจมทะเลเป็นอย่างยิ่ง
“หาก ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาป้องกันเมือง เชื่อได้เลยว่า ภายใน 50 ปีข้างหน้า พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอย่างแน่นอน” ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ
รายงาน ข่าวจากเอเอฟพี ยังบอกอีกว่า นอกจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้พื้นดินกรุงเทพมหานครทรุดลงเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปี ก็คือ การขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ตั้งแต่ในยุคทศวรรษ 70 (พ.ศ.2513-2523) เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของโรงงานจำนวนมากใน เมืองหลวง ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และธนาคารเพื่อความร่วมมือญี่ปุ่น หรือ เจบิก ได้ออกมาระบุว่า การขุดเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ส่งผลให้พื้นดินในกรุงเทพมหานคร ทรุดลงถึงปีละ 10 เซนติเมตร จนกระทั่งรัฐบาลได้สั่งควบคุมการขุดเจาะน้ำบาดาล จึงทำให้อัตราการทรุดตัวของผืนดินในกรุงเทพมหานคร ลดลงเหลือน้อยกว่าปีละ 1 เซนติเมตร
แต่ถึงกระนั้น ทางธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ก็ยังออกมาประเมินว่า กรุงเทพมหานครมีสิทธิ์จมทะเลได้อยู่ดี เพราะไม่มีทางที่ผืนดินกรุงเทพมหานครจะสูงขึ้นกว่านี้ อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องระดับน้ำทะเล และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเข้ามาเกี่ยวข้องอีก และเหตุผลเดียวกันนี้ เป็นเหตุให้ธนาคารโลก (World Bank) ออกมาทำนายว่า กรุงเทพมหานครจะต้องเผชิญกับอุทกภัยที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงอนาคตอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น