วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

“รกฝังลึก”..ภาวะอันตรายที่คุณแม่ควรรู้!

นพ.วรชัย ชื่นชมพูนุท
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการคลอดลูกแต่ละครั้งนั้น คุณแม่หลาย ๆ ท่านมักจะให้ความสนใจไปที่เจ้าตัวเล็กว่าจะครบสามสิบสองหรือไม่ แต่น้อยคนนักที่จะตระหนักถึงภาวะอันตรายที่เกิดจากรกอย่าง “รกฝังลึก” ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.วรชัย ชื่นชมพูนุท สูติ-นรี แพทย์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลบีเอ็นเอช อธิบายให้ทีมงาน Life & Family ฟังว่า ในการตั้งครรภ์ที่ปกติ การฝังตัวของรกจะไม่ฝังลึกลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของผนังมดลูก อย่างมากที่สุดก็ไม่เกินชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกเท่านั้น และเมื่อมีการคลอด รกก็จะลอกหลุดออกมาได้ง่าย พร้อมกับชั้นบนของเยื่อบุโพรงมดลูกที่จะลอกหลุดออกมาด้วย แต่ในคุณแม่บางคน รกจะฝังตัวลึกเข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก และบางรายอาจจะฝังตัวลึกมากจนทะลุชั้นกล้ามเนื้อมดลูกออกมา จนถึงด้านนอกของมดลูกเลยก็มี
“การวางตัวของรกโดยทั่วไปแล้วจะ วางอยู่บนกล้ามเนื้อมดลูก แต่มีบางกรณีที่รกแทนที่จะฝังตัวอยู่แค่ผิวกล้ามเนื้อ แต่กลับฝังลึกเข้าไปถึงกล้ามเนื้อ หรือบางรายทะลุไปถึงผนังของมดลูกเลยก็มีเหมือนกัน ซึ่งปัญหาก็คือ หลังคลอด รกก็จะไม่คลอดออกมาด้วย รกก็จะติดอยู่ ทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อ เกิดปัญหาของการเสียเลือดมากหลังคลอดได้” สูติ-นรีแพทย์อธิบายเสริม
สำหรับสาเหตุของรกฝังลึกนั้น สูติ-นรีแพทย์รายนี้ บอกว่า เกิดจากคุณแม่ที่เคยขูดมดลูกมาก่อน และผ่านการคลอดมาแล้วหลายครั้ง หรือได้รับการผ่าตัดคลอดหลังจากผ่ามาแล้ว 1-2 ครั้ง เพราะการผ่าตัดคลอดจะทำให้เกิดแผลที่ผนังมดลูก ในรายที่แผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัดไม่สมานกันจนแต่ละชั้นติดกันสนิทเหมือน เดิม ถ้ารกไปฝังตัวที่บริเวณดังกล่าวก็อาจทำให้ฝังลึกกว่าปกติได้
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นอกจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นแล้ว คุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ มีความเสี่ยงที่จะเกิดรกฝังลึกได้เช่นกัน
“มีข้อมูลทางการแพทย์พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรกที่เกาะต่ำ ส่วนหนึ่งจะเป็นรกฝังลึกด้วย หมายความว่า ใน 100 คนที่รกเกาะต่ำ จะมี 10 คนเสี่ยงต่อการเกิดรกฝังลึกได้ และที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ถ้าในกรณีที่เคยผ่าตัดคลอดมาแล้ว เมื่อตั้งครรภ์ท้องต่อไปเกิดมีภาวะรกเกาะต่ำร่วมด้วย โอกาสเกิดรกฝังลึกจะเพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 เลยทีเดียว”
เมื่อถามต่อไปถึงวิธีการป้องกัน สูติ-นรีแพทย์ท่านนี้ บอกว่า ไม่สามารถบอกได้แน่ชัด แต่ถ้าคุณแม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นก็จะทำให้คุณหมอตระหนัก และเตรียมรับมือกับรกฝังลึกได้ทันท่วงที ซึ่งการผ่าตัดเอามดลูกออกพร้อมกับรกที่ยังค้างอยู่ เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด
“การทำอัลตร้าซาวด์ก็พอบอกได้นะ แต่ถ้าเช็กแล้วทุกอย่างปกติดี หลังคลอดแล้วเกินครึ่งชั่วโมง รกไม่ยอมคลอดออกมา เป็นไปได้ที่จะรกจะฝังแน่น และฝังลึกจนต้องใช้วิธีล้วงรกออกมา แต่บางครั้งก็มีปัญหาดึงออกไม่หมด ซึ่งรกที่ค้างอยู่ในมดลูกจะขัดขวางทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดี และทำให้โพรงมดลูกไม่สามารถยุบขนาดลงได้ เลือดที่ออกจากโพรงมดลูกจึงไม่ลดปริมาณลงตามไปด้วย ส่งผลให้เลือดไหลและมีโอกาสเสียเลือดมาก ตรงนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำคลอดว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้เสีย เลือดมาก บางทีอาจจะต้องตัดมดลูกออกก็มีเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม ภาวะรกฝังลึก พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา อาจทำให้เกิดอันตราย หรือเสี่ยงต่อการที่ทำให้คุณแม่เสียเลือดระหว่างคลอดได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คุณแม่ควรตระหนัก และให้ความสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น