วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

“ลูกติดแม่” มากเกินไป ทำอย่างไรดี?

เมื่อ พูดถึงเด็กที่มีพฤติกรรมติดพ่อหรือแม่ เป็นเรื่องที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนเกิดอาการเครียดได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับคุณแม่เจ้าของคำถามในสัปดาห์นี้ที่พบปัญหาลูกติดเธอมากเกินไป จนทำให้เกิดความเครียด กังวล และเหนื่อยใจกับลูกทุกครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่เร่งรีบออกไปทำงาน หรือทำธุระนอกบ้าน ซึ่งความน่าหนักใจนี้ พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก จากโรงพยาบาลเวชธานีมีคำตอบและคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันครับ
คำ ถาม : ลูกสาว 5 ขวบแล้วยังติดดิฉันอยู่เลยค่ะ จะทำอะไรก็ตามติดตลอด หรือเวลาจะไปทำงานก็ร้องไห้ฟูมฟายไม่ยอมไปโรงเรียนแต่อยากจะไปกับแม่ และบางครั้งให้อยู่กับคุณพ่อ เขาก็ไม่ยอม ร้องไห้งอแงเหมือนกัน แบบนี้จะทำอย่างไรดีค่ะ ดิฉันไม่รู้อยากให้ลูกติดหนึบมากขนาดนี้เลย
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.free-toddlers-activity-and-discipline-guide.com
คุณหมอสินดี : จริง ๆ ภาวะที่คุณแม่เล่ามานี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในเด็กทุกคนนะคะ เราเรียกว่า “ความกังวลต่อการพลัดพรากจากผู้เลี้ยงดู” เพียงแต่เรามักจะพบมากในเด็กเล็กอายุ 1-3 ขวบ แต่บางคนก็อาจมีอาการจนถึง 7 ขวบได้ อย่างไรก็ตามหากลูกเป็นมากจนรบกวนการเรียนที่โรงเรียน รบกวนการใช้ชีวิต ไม่กล้าไปเล่นกับเพื่อน ๆ เลย มีอารมณ์รุนแรงเวลาที่ไม่เห็นคุณแม่ ก็ต้องระวังว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องความกังวลที่อาจต่อเนื่องไปจนเป็นผู้ใหญ่ ได้
สำหรับวิธีที่จะช่วยลูก เริ่มแรกคงต้องหาสาเหตุก่อนค่ะ ว่ามีอะไรที่ทำให้เขาติดคุณแม่ขนาดนี้ สาเหตุที่พบบ่อย คือ มีการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของเด็ก เช่น ย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน หรือมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในบ้าน เช่น มีคนเสียชีวิตหรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง นอกจากนั้น คุณแม่ลองดูว่าเป็นเราเอง หรือญาติผู้ใหญ่ หรือไม่ที่สร้างความกังวล เช่น ขู่ว่าจะไม่รัก ขู่ว่าจะทิ้ง หรือปกป้องลูกมากเกินจนกลัวสังคม เป็นต้น
ส่วนวิธีการช่วยเหลือเด็กจริง ๆ นั้นก็ขึ้นกับสาเหตุค่ะ ส่วนการช่วยอย่างอื่น ๆ เพื่อให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ได้แก่ การรับฟังลูก ยอมรับความกลัวของเขาค่ะ เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกว่าเราเข้าใจ ไม่ใช่ยิ่งไปทำให้เขารู้สึกผิดแปลกจากเรา จากนั้นเขาจะยอมเล่าให้เราฟังว่าทำไมถึงกลัวหรือติดเราขนาดนี้ อาจจะซ้อม ๆ การแยกจากกัน เช่น มีการบอกล่วงหน้าว่า เดี๋ยววันนี้ไปเที่ยวกับพ่อ หรือไปเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน เป็นต้น แม่ควรทำอะไรที่เป็นแบบแผนพอที่จะให้เด็กคาดเดาได้บ้าง เช่น ปกติทุกวันต้องทำอะไร ทำตามเดิม ยกเว้นว่าตารางเปลี่ยนควรจะบอกเด็กล่วงหน้า
นอกเหนือจากนั้นแล้ว การที่จะให้ลูกสามารถพึ่งตัวเองได้หรือติดเราน้อยลง คุณแม่เองก็ต้องใจเย็นนะคะ ถ้าเรายิ่งหงุดหงิด หรือแสดงความกังวลที่เขาติดเรา เด็กเองก็รับรู้ค่ะ พยายามให้กำลังใจเขาในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีความมั่นใจ ที่สำคัญหากเขาขอไม่ไปโรงเรียน คุณแม่ต้องไม่ใจอ่อนเด็ดขาดนะคะ ให้เขาไปพร้อมทั้งยืนยันว่าเราจะไปรับตรงเวลา รอตรงไหน ใส่ชุดสีอะไร แล้วเมื่อถึงเวลาเลิกเรียน ให้คุณแม่ทำตามที่บอกนะคะ ลูกจะได้มั่นใจว่าเราไม่ทิ้งเขาแน่ ๆ เมื่อลูกทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆอย่าลืมชมเขา เด็ก ๆ ก็ต้องการกำลังใจค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น