นอกจากความงดงามของท้องทะเลที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลกแล้ว ภูเก็ตยังมีของดีที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไปนั่นก็คือ เรื่องของ“อาหารพื้นเมืองภูเก็ต”ที่ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ยอมรับในเรื่องรสชาติความอร่อย ถือเป็นหนึ่งในสิ่งเชิดหน้าชูตาของเมืองนี้ ซึ่งบางเมนูหาทานที่ไหนไม่ได้ เนื่องจากมีทำเฉพาะที่ภูเก็ตแห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้อาหารพื้นเมืองภูเก็ตก็ยังมีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนภูเก็ต ทำให้การได้ลองลิ้มอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ก็เสมือนกับว่าได้เรียนรู้วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของชาวภูเก็ต ผ่านจากอาหารการกินไปด้วย | ||||
อุทิศ ลิ่มสกุล เจ้าหน้าที่ททท. หาดใหญ่ แต่เป็นชาวภูเก็ตโดยกำเนิด หนึ่งในผู้ที่ผูกพันคุ้นเคยกับอาหารภูเก็ตเป็นอย่างดี ได้พูดถึงเรื่องของ อาหารพื้นเมืองภูเก็ตว่า ถ้าให้นึกถึงอาหารพื้นเมืองภูเก็ตแล้วนั้น ตนขอมองในเรื่องของรสชาติและในเรื่องของเมนูอาหารก่อน ซึ่งเรื่องรสชาติคือไม่เหมือนอาหารที่อื่น มีความโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของส่วนผสม ทั้งอาหารหนัก อาหารทานเล่น แม้กระทั่งส่วนประกอบที่เป็นน้ำจิ้ม จะมีความแตกต่างจากที่อื่น บางเมนูอาจจะเหมือนกับที่อื่นในเรื่องของส่วนผสม ส่วนประกอบ แต่น้ำจิ้มจะมีความแตกต่างกัน และเมื่อถามถึงว่าคิดว่าอาหารพื้นเมืองภูเก็ตนั้นมีเสน่ห์ตรงไหน อุทิศ บอกว่า “ผมคิดว่าเสน่ห์ของอาหารพื้นเมืองภูเก็ต น่าจะเป็นเรื่องของที่อื่นไม่มี ก็คือความโดดเด่นหรือว่าความเป็นอัตลักษณ์ เพราะอาหารพื้นเมืองภูเก็ตมีความเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนภูเก็ต คือจริงๆ แล้วอาหารทุกอย่างถ้าหากลงไปดูรายละเอียดลึกๆ แล้วจะมีที่มา เพราะว่าบางเมนูก็จะมีความผูกพันไปเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน ภูเก็ต อย่างเช่น ขนมอิ่วบึ่งที่เอามาใช้ทาน และใช้ในงานมงคลในการรับขวัญเด็กผู้ชาย ส่วนหมี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำในเรื่องของการทำบุญ ถ้าหากสังเกตว่าที่ภูเก็ตเวลามีงานบุญ หรืองานสำคัญต่างๆ จะผัดหมี่เป็นหลัก ซึ่งเส้นหมี่มีความหมายถึงความยืนยาว” | ||||
“ถ้าเป็นอาหารกลางวันก็เหมือนกับอาหารทั่วไป แต่ว่าจะมีความแตกก็คือในเรื่องของอาหารว่างที่บางคนสามารถนำมาทำเป็นอาหาร มื้อกลางวันได้ อย่างเช่น โลบะ เป็นอาหารพื้นเมืองที่มีเฉพาะที่ภูเก็ตอย่างเดียว ทำมาจากอวัยวะต่างๆ ของหมู พร้อมกับเครื่องใน เอามาปรุงพร้อมกับเครื่องเทศ และหมักเคี่ยวให้จนแห้ง และบางอย่างก็จะนำมาทอดอีกครั้งหนึ่ง แล้วกทานกับน้ำจิ้มที่มีรสชาติเปรี้ยวจากมะนาว เผ็ดจากพริกป่นโรยหน้า หวาน ทานกับแตงกวา ราคาจะแตกต่างกัน มีชุดเล็ก ชุดกลางและชุดใหญ่ ที่ขึ้นชื่อมีอยู่ 2 ร้าน มีที่ร้านโลบะบังเหนียว ทางขึ้นเขารัง อีกร้านเป็นร้านไม่มีชื่อ แต่จะอยู่ตรงข้ามกับศาลเจ้าแม่ย่านาง” | ||||
“ถ้าอยากทานหมี่สะปำก็มีหลายร้าน อย่าง ร้านหมี่สะปำยายเจียร(ซึ่งเป็นร้านชื่อดังและมีการพูดถึงกันเป็นจำนวนมาก) จะมีความแตกต่างจากร้านอื่นในเรื่องของส่วนผสม ของเนื้อปลา มีซีฟู้ด แล้วผัดใส่ไข่ ใส่กวางตุ้ง และที่ร้านนี้จะเป็นบะหมี่เส้นใหญ่ “ อุทิศ แนะนำ แล้วก็ยังนำเสนอเมนูอื่นอีก “อีกเมนูหนึ่งคือ หมี่หุ้นป้าฉ่าง จะเป็นหมี่หุ้นหรือเส้นหมี่ขาวผัด ทานคู่กับแกงจืดกระดูกหมู ป้าฉ่างเป็นต้นตำรับ แต่ตอนนี้มีอยู่หลายร้าน แต่ร้านที่คนภูเก็ตนิยมไปทานและนักท่องเที่ยวนิยมไปก็จะอยู่ที่บังเหนียว เข้าไปทางซอยของโรงเรียนเทศบาลบ้านบังเหนียว แล้วอีกที่หนึ่งที่อาจจะสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวก็จะอยู่ที่ ศูนย์อาหารตรงสี่แยกถนนดีบุก แล้วก็อีกที่หนึ่งก็จะเป็นที่ตลาดฉำฉาจะเป็นที่ขายพวกขนมหวาน ขายขนมทุกประเภท” | ||||
“โอต้าว”(โอต๊าว) ลักษณะคล้ายหอยทอด เป็นการนำเอาเผือกและแป้งสาลี แล้วจะมีส่วนผสมของไข่ แล้วก็หอยพงตัวเล็กๆ แล้วผัดให้เข้ากัน เวลากินสามารถปรุงรสเพิ่มเติมได้ตามใจชอบ และที่พลาดไม่ได้อีกเมนูหนึ่งก็คือ “หมูฮ้อง” สูตร ของคนภูเก็ตส่วนใหญ่จะนำเอาหมูสามชั้น โดยเฉพาะส่วนบริเวณคอและราวนมของหมู เอามาหั่นเป็นชิ้น และเคี่ยวด้วยพริกไทย กระเทียม และใส่ซีอิ๊วดำทำให้หวาน หรือซีอิ๊วสีแดงทำให้ผิวของหมูฮ้องดูไม่ดำจนเกินไปสีจะสวยขึ้น แล้วนำหมูไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ เนื้อหมูก็จะนุ่ม เป็นอาหารพื้นเมืองภูเก็ตที่ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด | ||||
เรียกได้ว่าอาหารพื้นเมืองภูเก็ตนั้นมีความหลากหลาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะที่คนภูเก็ตยังได้ทำการอนุรักษ์รักษาไว้เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เมนูอาหารเหล่านี้หายไปจากวิถีชีวิต ซึ่งเรื่องการอนุรักษ์อาหารพื้นเมืองภูเก็ตนี้ อุทิศ ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า “หากมองเป็น 2 ประเด็น ถ้าหากเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ก็จะมีการตั้งชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารพื้นเมืองจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสนับสนุนโดยเทศบาลนครภูเก็ต เวลามีกิจกรรมอะไรต่างๆ ในเขตเทศบาลเมือง ก็จะให้ทางชมรมเป็นหน่วยงานที่จัดงานอาหารพื้นเมืองภูเก็ตมาจำหน่ายให้กับ นักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมงานได้ชิมกัน” | ||||
เรียกได้ว่าหากใครคิดที่อยากจะมาเที่ยวภูเก็ต ก็ไม่ควรพลาดการหาโอกาสไปลิ้มรส “อาหารพื้นเมืองภูเก็ต”อัน หลากหลายและเลิศรส ซึ่งนอกจากจะได้ความอิ่มอร่อยแล้ว ยังได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนภูเก็ตผ่านอาหารการกินที่มีอัต ลักษณ์อีกด้วย |
วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
“อาหารพื้นเมืองภูเก็ต” หรอยอย่างแรง แฝงวิถีชีวิต วัฒนธรรมการกิน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น