วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สมถะ วิปัสสนา ในแนวทางที่ตำราไม่กล่าวถึง

สมถะ วิปัสสนา ในแนวทางที่ตำราไม่กล่าวถึง

บทความนี้ จะเขียนเรื่องของ สมถะ วิปัสสนา ที่ไม่มีกล่าวไว้ในตำราที่ใด
แต่เป็นสิ่งที่ผมเข้าใจเองจากการฝึกปฏิบัติมา

1.ผมจะไม่ขอพูดว่า อะไรคือสมถะ อะไรคือวิปัสสนา เพราะ 2 คำนี้ท่านผู้อ่านจะค้นหาคำตอบตามตำราได้มากมายใน Google อยู่แล้ว แต่ถ้าท่านยังใหม่ในธรรมปฏิบัติ ผมก็ขอแนะนำให้ท่านเข้าไปหาความหมายของคำว่า สมถะ วิปัสสนาก่อนที่จะอ่านบทความของผมต่อไป

2. สำหรับการปฏิบัติจริงแล้ว
สมถะ คือ การใช้จิตทำงานโดยมีความตั้งใจ จิตถูกบังคับ ถูกกดช่ม จิตไม่เป็นอิสระ เช่น การส่งจิตไปจับลมหายใจบริเวณปลายจมูก การส่งจิตไปจับที่เท้าเวลาเดินจงกรม การส่งจิตไปจับที่มือเวลาเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน การส่งจิตไปจับที่ท้องที่พองยุบ การเพ่งให้จิตจับความรู้สึกตัว
การเพ่งกสิณให้จิตนิ่ง
และสารพัดวิธีการบังคับจิตให้ทำงานตามความต้องการของผู้ปฏิบัติ

ในขบวนการของสมถะนั้น ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภทอีก
(ขอให้อ่านในข้อ 3 ต่อไป)

วิปัสสนา คือ การปล่อยจิตให้เป็นอิสระ ไม่มีการใช้จิต บังคับจิตใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จิตสำหรับเจริญวิปัสสนาได้นั้น สมควรเป็นจิตที่ตั้งมั่นพอสมควรแล้ว และจิตมีสภาพแห่ง "จิตรู้ " เกิดขึ้นแล้ว

3 สมถะ 2 ประเภท
ประเภท 1 เป็นการใช้จิตทำงานก็จริง แต่เป็นการใช้ที่เบา ๆ ละมุมละม่อม เปรียบเหมือนการให้จิตไปจับอะไรที่เบา ๆ โดยจิตนั้นยังสามารถที่จะรับรู้อารมณ์อื่น ๆ ที่จิตไปสัมผัสได้อยู่ เช่น ในการส่งจิตไปจับที่เท้าในการเดินจงกรม ก็ส่งจิตไปจับที่เท้าเบา ๆ ในขณะเดียวกัน จิตก็ยังรับรู้สภาวะธรรมอื่น ๆ ไปด้วย เช่นตายังมองเห็น หูยังได้ยิน กายยังรู้สึกได้ถึงความเย็นความร้อนที่มาสัมผัสกายได้ ถ้าจะเปรียบเทียบอีกอย่าง ก็เหมือนกับที่ฝรั่งจับมือกัน แต่จับแบบเบา ๆ ต่อกัน
การปฏิบัติวิธีนี้ ถึงแม้เป็นสมถะ แต่ก็เป็นสมถะที่ดี ที่เกื้อหนุนต่อการเจริญวิปัสสนาต่อไป

ประเภทที่ 2 ประเภทนี้เป็นการใช้จิตอย่างแนบแน่น หรือ บางที่เรียกว่า เพ่งจิต ไม่ปล่อยจิตให้หลุดไปที่อื่นเลย เช่น ถ้าส่งจิตไปจับที่ปลายจมูกเพื่อดูลมหายใจ ก็จะรู้แต่ที่ปลายจมูก ไม่รู้อารมณ์จิตอื่นเลย ถ้าเปรียบกับใฝรั่งจับมือกัน ก็เหมือนกับการจับมือที่บีบแน่น ไม่ปล่อยให้มือที่กำลังจับหลุดออกไปได้
การปฏิบัติวิธีนี้ เป็นสมถะแบบฤาษี เป็นการบังคับจิตให้นิ่ง ที่ไม่เกื้อหนุนต่อการเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าผู้ปฏิบัติกำลังมีจิตตกมาก วิธีนี้ก็ใช้ได้ดีในการแก้จิตตกที่กำลังเกิดอย่างรุนแรง แต่ถ้าจิตหายตกแล้ว ก็ควรหยุดการทำสมถะแบบนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติฝึกสมถะแบบนี้ไปนาน ๆ ก็จะเป็นการสร้างปัญหาให้กับตนเองต่อไปในการเจริญวิปัสสนาในอนาคต เพราะการแก้ใขให้จิตหยุดเพ่งแบบนี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง
ผู้ปฏิบัติในประเทศไทย มักปฏิบัติสมถะประเภทนี้อยู่เสมอ ๆ โดยที่ตนเองไม่เข้าใจว่า สมถะประเภทนี้ไม่เกื้อหนุนต่อการเจริญวิปัสสนา

4. สมถะพร้อมวิปัสสนา
ในการเจริญวิปัสสนาจริง ๆ นั้น ๆ จิตผู้ปฏิบัติต้องถึงพร้อมด้วยกันทั้งสมถะและวิปัสสนาในขณะเดียวกัน จึงจะเจริญวิปัสสนาได้
จิตที่เป็นสมถะ จะมีลักษณะ สงบ ตั้งมั่น ถึงพร้อมด้วยการรู้ที่ว่องไว
จนจิตตสังขารไม่สามารถลากจิตให้หลงไหลไปกับกิเลสที่เกิดได้
ในขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติก็ไม่บังคับ ไม่กดช่มจิต ปล่อยให้จิตที่สงบ ตั้งมั่น ถึงพร้อมด้วยการรู้ที่ว่องไวนั้น ทำงานของมันไปอย่างเป็นอิสระ รู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีการคิดพิจารณาธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น
เมื่อจิตรู้เห็นสภาวะธรรมเป็นไตรลักษณ์ได้เอง นั้นคือการรู้ที่เป็นจริงตามวิปัสสนาแล้ว

...................
ท่านที่ปฏิบัติมานาน ๆ แล้วยังไม่มีความก้าวหน้า ก็ลองสำรวจวิธีการปฏิบัติของท่านดูว่า สิ่งที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่นั้น ท่านกำลังปฏิบัติวิธีใดอยู่



Create Date : 30 พฤษภาคม 2552
Last Update : 29 มกราคม 2555 19:50:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น