วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

จะหลุดจากการเพ่งได้อย่างไร

จะหลุดจากการเพ่งได้อย่างไร

เพิ่งจะหัดดูกายมาได้ประมาณครึ่งเดือนค่ะ ปฎิบัติในรูปแบบ คือการเดินจงกรม
จะรู้สึกตัวได้ดีเวลาเดินทุกครั้ง แต่รู้สึกว่า เวลาที่รู้สึกตัวทำไมมันถึงต่อเนื่อง แบบว่ารู้เป็นนาทีค่ะ
แล้วก็จะหลงไปแล้วมารู้ใหม่ แต่คิดว่าตัวเองไม่เพ่งนะคะ เพราะไม่อึดอัด
เวลารู้สึกตัวมันจะแบบรู้กว้างๆไปทั้งตัวแต่ไม่เกินขอบของร่างกายแล้วก็จะรู้สึกเหมือนมีสมาธิหน่อยๆ
เหมือนกับเวลาเริ่มนั่งสมาธิค่ะ
แต่ เมื่อสักหกวันที่แล้วตื่นขึ้นมาตอนเช้า มีความรู้สึกตัว
กลับรู้สึกอึดอัด แน่นในหน้าอกแน่นในหู ทั้งๆที่ก็รู้สึกเหมือนเดิมแต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามา
คือเมื่อรู้สึกตัวทุกครั้งจะเพ่งตรงที่รู้ทุกครั้ง ไม่ได้เพ่งอวัยวะนะคะ
คือไม่รู้ว่าอยู่ดีๆการเพ่งมันเกิดได้ยังไง พยายามจะไม่ติดตรงที่รู้ แต่พอรู้มันก็อึดอัดทุกครั้ง
จนท้อแล้วค่ะ พอดีได้อ่านบล็อกคุณ เห็นว่าคุณก็เคยเพ่งมาก่อน อย่างนี้ดิฉันควรรู้สึกตัวในแบบนี้ต่อไปดีไหมคะ
คือให้มันหลุดออกจากการเพ่งเอง ขอคำแนะนำด้วยนะคะ

**************************
ก่อนอื่น ผมขอบอกก่อนว่า สิ่งที่ผมจะตอบนี้
ไม่มีอยู่ในตำราใด ๆ เป็นสิ่งที่ผมพบเห็นเอง
เข้าใจเองจากที่ผมพบมา
ดังนั้น ท่านที่ติดตำราเป็นกะละแมติดฟัน
ขอความกรุณา อย่าได้อ่านเลยครับ
ผมขอร้องละ
****************************
มาอ่านความเห็นของผมดังนี้

อันดับแรก ควรเข้าใจก่อนว่า การเพ่งมีลักษณ์อย่างไร
ขอให้ดูรูปประกอบ เพื่อความเข้าใจ

การเพ่งมี 2 แบบครับ
แบบที่ 1 คือ จงใจเพ่ง หรือ จงใจที่จะรู้สภาวะ
อันนี้เป็นความจงใจที่จะกระทำ
หรือ จงใจที่จะรู้สภาวะ

ยกตัวอย่างเช่น
ผู้ชายเห็นสาวสวยเดินสวนมา ก็จงใจมองไปยังสาวสวยคนนั้น
ผู้หญิงเห็นกระเป๋ามาใหม่ในห้างสรรพสินค้า ก็เดินเข้าไปดูกระเป๋าใบนั้น
เวลาทำงานในสำนักงาน ได้ยินเสียงเบา ๆ ของคนที่ไม่ถูกกันกำลังพูดอะไรอยู่ ก็จะพยายามฟังว่า เขาพูดนินทาเราหรือเปล่า
เวลาปฏิบัติเดินจงกรม ก็พยามยามจับความรู้สึกที่เท้าที่กำลังเดินนั้น
เวลานั่งสมาธิ ก็พยายามจะจับการกระทบของลมหายใจที่ปลายจมูก

การเพ่งแบบนี้ อยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติเองที่จงใจกระทำขึ้นมา กล่าวคือ จงใจที่จะมองอะไรสักอย่าง จงใจที่จะต้องการได้ยินอะไรสักอย่าง จง
ใจที่จะรู้สภาวะในระหว่างฝีกฝนการปฏิบัติธรรม

จะเห็นได้ว่า นี่คือการจงใจเข้ากระทำ อันเป็นอัตตาตัวตน
ที่เข้าไปกระทำนั้น ๆ นั้นเอง


แบบที่ 2 คือ การเพ่งที่เกิดขึ้นเอง ไม่ได้จงใจกระทำในการเพ่งนั้น
(ดูรูปประกอบด้วยครับ )

การเพ่งแบบนี้ ยังแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบโลกียะ
และแบบโลกุตระ

มาดูกันว่า โลกียะ และ โลกุตระ เป็นอย่างไร

แบบโลกียะ ก็คือ การเพ่งที่เป็นไปเอง โดยความรู้สึกนั้นว่า เป็นของเรา ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อปวดฟัน หรือ ปวดขาขณะนั่งสมาธิ จิตจะเข้าไปจับอาการปวดนั้นเอง โดยที่เราบังคับไม่ได้เลย มันจะจับสะอย่างละ จะทำอะไรได้
เมื่อจิตไปจับอาการปวดเข้า ก็จะรู้สึกได้ถึงการปวดที่ยาวนาน ต่อเนื่อง ทรมาน และเป็นว่า การปวดนี่ เราเป็นคนปวด เรานี่กำลังทรมานจากการปวดนี้

แบบโลกุตระ ก็คือ การเพ่ง แต่เป็นการเพ่งที่เกิดเองโดย .จิตรู้. ที่แยกตัวออกมาจากสิ่งที่ถูกเพ่งนั้น เรื่องนี้คนที่ปฏิบัติยังไม่ถึง จะเข้าใจยากสักหน่อย หรือ อาจเข้าใจไม่ได้เลย แต่ขอให้อ่านต่อไป อาจพอเข้าใจได้บ้าง
การเพ่งเองด้วย .จิตรู้.นี้ จิตรู้ เขาจะเพ่งสภาวะธรรมของเขาเอง
เมื่อสภาวะธรรมนั้น ๆ เกิดขึ้นมาแล้ว เช่น
เมื่อความคิดเกิดขึ้น จิตรู้ ไปเพ่งความคิดเอง
เมื่ออารมณ์ไม่พอใจเกิดขึ้น จิตรู้ ไปเพ่งจิตปรุงแต่งที่เป็นอารมณ์ไม่พอใจ
เมื่อจิตว่างเกิดขึ้น จิตรู้ ไปเพ่งจิตว่างนั้นเอง
เมื่อเกิดเวทนาทางกายขึ้น จิตรู้ ก็ไปเพ่งเวทนานั้นเอง

การเพ่งโดย จิตรู้ นี้ ที่ว่าเป็นโลกุตระ เพราะว่า เมื่อ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ว่า จิตรู้ นี้ไม่ใช่ตัวเรา และ สิ่งที่จิตรู้ไปเพ่งก็ไม่ใช่ของเราเลย
และที่น่ามหัศจรรย์ก็คือ เมื่อจิตรู้ไปเพ่งเวทนาทางกายนั้น ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้สึกทรมานจากเวทนานั้นเลย

*****
เมื่อรู้แบบการเพ่งแล้ว ก็มาดูปัญหาที่ถามมา
เมื่อเกิดอาการอึดอัด ไม่สบายกายขึ้นมา
ขอให้ท่านพิจารณาดูว่า มันเข้าลักษณะการเพ่งแบบใดที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งท่านต้องพิจารณาเอาเองครับ

แต่จากที่ผมพบมาโดยมาก นักปฏิบัติใหม่ มักจะเพ่งโดยทีตัวเองไม่รู้ว่ากำลังเพ่ง เมื่อเพ่งแล้วก็ทำให้ปวดหัว มึนงง ไม่สบายขึ้นมาได้

ขอให้ท่านลองสำรวจตัวเองดูในขณะปฏิบัติดังนี้ครับ
1. เวลาเดินจงกรม มีความพยายามจะรู้ความรู้สึกที่เท้าหรือไม่
2. เวลาฝึกมีความเครียด ไม่ผ่อนคลายหรือไม่
การเพ่งนั้นก็คือ ข้อใดข้อหนึ่ง หรือ ทั้ง 2 ข้อครับ

ถ้าเป็นแบบนี้ วิธีแก้ใข ก็คือ ปรับการปฏิบัติใหม่ในขณะเดินจงกรม
ครับ การเดินจงกรมนั้น ก็คือ
การเดินที่เป็นธรรมชาติ + รู้สึกตัว + ให้จิตใจเขารับรู้สภาวะธรรมของเขาเอง โดยไม่ต้องไปพยายามที่จะรู้ สภาวะธรรมที่เกิดที่เท้าเลย

แนะนำให้อ่านเรื่อง "ตัวอย่างการฝึกเพือการรู้กาย"
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=05-2009&date=30&group=1&gblog=20

เรื่องวิธีการฝึกฝนด้วยความผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่พยายามรู้สภาวะธรรม แต่ให้จิตเขารู้สภาวะธรรมเองนั้น ผมเคยอธิบายให้คนฟังหลาย ๆ คน แต่ส่วนมากไม่เห็นด้วย หรือ ไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมพยายามจะบอกเขา ดังนั้น ผมจึงฝากไว้ให้พิจารณาก็แล้วกัน

แต่ถ้าท่านที่ถามมา ยืนยันว่า ไม่ได้เพ่งอย่างจงใจเพ่งอย่างแน่นอน
ดังนั้น ก็จะเหลือ การเพ่งที่เกิดเอง (ดูรูปประกอบด้านสีเขียวอ่อน)

ซึ่งถ้าเป็นแบบโลกียะ ก็คงต้องไปสำรวจดูว่า ร่างกายมีอะไรผิดปรกติใหม ที่ทำให้อึดอัด แล้วแก้ใขที่ร่างกาย เช่น ไปพบแพทย์

แต่ถ้าเป็นโลกุตระ การเพ่งด้วยจิตรู้ที่เป็นไปเอง จะไม่ทำให้เกิดการอึดอัดขึ้นมาได้เลยครับ

ถาพประกอบคำอธิบาย


**************
Update

คนที่ฝึกใหม่ๆ ส่วนมาก มันใช้ประสบการณ์ทางโลกนำไปตัดสินการปฏิบัติธรรม ทางโลกนั้น เวลาดู ก็ดูชัด ๆ เวลาฟังก็ฟังชัด ๆ รู้ชัด ๆ
นี่คือ ทางโลก

แต่พอมาปฏิบัติธรรม มันจะไม่ชัดแบบนั้น มันจะเบา ๆ เหมือนไม่ชัด มันเป็นแบบนี้ ซ้ำร้าย คนสอนบางคนยังสอนอีกว่า .ต้องรู้. ยิ่งเป็นการเน้นว่า .ต้องรู้. นี่คือสิ่งเลวร้ายที่ผิดทางสำหรับการฝึกฝนการปฏิบัติธรรมที่ให้ผล

การปฏิบัติธรรมที่ให้ผลได้นั้น จะรู้เบา ๆ ไม่ชัด รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เช่น การระลึกรู้ลมหายใจ บางครั้งรู้ได้ แต่บางครั้ง กลับไปรู้อย่างอื่นที่ไม่ใช่ลมหายใจ คนใหม่ ๆ พอเป็นแบบนี้ ก็กลัวผิด ก็เลยไปเพ่งซะ
พอเพ่ง ก็ผิดเลย ถ้าไม่เพ่ง คือ รู้เบา ๆ รู้บ้าง ๆ ไม่รู้บ้าง นี่ของถูก แต่ไม่เข้าใจกัน การปฏิบัติจึงไม่ได้ผลออกมา




Create Date : 04 มีนาคม 2553
Last Update : 29 มกราคม 2555 18:12:31 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น