วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔)

พระประธาน-พระคู่บ้านคู่เมือง ๗๗ จังหวัด (๔)





พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ
 
ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

พระพุทธเทวปฏิมากร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ 


“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
หรือที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดโพธิ์”
ถือเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลในรัชกาลที่ ๑ 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงสถาปนาวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่จากวัดโบราณเก่าแก่ที่มีอยู่เดิม
โดยนับเป็นวัดที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างราชธานี

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย
จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย
เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน
เป็นมรดกความทรงจำโลก (Memory of the World) เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๑

ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ ๙๙ องค์
พระเจดีย์ที่สำคัญคือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงเป็นเหตุให้เรียกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ว่า ‘อาณาจักรแห่งเจดีย์’



ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ ๒๔ ของโลก
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง ๘,๑๕๕,๐๐๐ คน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย 
โดยเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๓
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่างๆ
จารึกลงบนศิลาจารึกหรือแผ่นศิลา รวมทั้งได้ปั้นฤๅษีดัดตน ประดับไว้ภายในบริเวณวัด

ในศิลาจารึกทั้งหมดอาจจะแบ่งความรู้ต่างๆ ออกได้เป็น ๘ หมวด ได้แก่
หมวดประวัติการสร้างวัดพระเชตุพนฯ, หมวดตำรายาแพทย์แผนโบราณ,
หมวดอนามัย, หมวดประเพณี, หมวดวรรณคดีไทย, หมวดสุภาษิต, หมวดทำเนียบ
(จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) และหมวดพระพุทธศาสนา

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นับเป็นวัดสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์วัดหนึ่ง
“พระพุทธเทวปฏิมากร” พระประธานในพระอุโบสถ ก็เช่นเดียวกัน 


พระพุทธเทวปฏิมากร นามอันมีความหมายว่า เทวดามาสร้างไว้
เนื่องด้วยเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่งสมกับชื่อ
เป็นพระพุทธรูปโบราณ ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว 




ที่ใต้ฐานชุกชีพระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่อไว้ ๓ ชั้นนั้น
ในชั้นที่ ๑ ได้บรรจุพระบรมอัฐิ (บางส่วน)
และพระบรมราชสรีรางคารของบุรพกษัตริย์รัชกาลที่ ๑ ไว้ด้วย


มีหลักฐานปรากฏใน ‘ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนฯ’ ไว้ว่า

เดิมพระพุทธเทวปฏิมากรประดิษฐานอยู่ ณ วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดโพธาราม
ให้เป็นวัดใหญ่สำหรับพระนคร และได้ทรงขนานนามใหม่ว่า
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ได้ทรงเลือกหาพระพุทธรูป
ที่มีพุทธลักษณะงามสมควรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด
จึงได้พบและเลือกพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์) 
ดังกล่าว

ครั้งนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
ถวายพระนามว่า “พระพุทธเทวปฏิมากร”

ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระอุโบสถเก่า ซึ่งสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑
ลงทั้งสิ้น แล้วทรงสร้างขึ้นใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเก่า

ส่วนฐานพระพุทธเทวปฏิมากรนั้นรื้อของเก่าทำขึ้นใหม่ขยายเป็น ๓ ชั้น
พระสาวกเดิมมี ๒ องค์ ทรงสร้างขึ้นใหม่อีก ๘ องค์
รวมเป็นพระสาวก ๑๐ องค์ ดังที่ปรากฏอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ 




ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ 
มีพระราชดำริถึงพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ซึ่งพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้นได้รับพระราชทานไปกระทำสักการบูชา
เมื่อเจ้านายพระองค์นั้นๆ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีใครพิทักษ์รักษา
ได้เชิญมาเป็นของหลวง มีอยู่ควรจะประดิษฐานไว้ให้มหาชน
ได้กระทำสักการบูชาโดยสะดวก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมอัฐิ
ในกล่องศิลา แล้วเชิญมาบรรจุไว้ในพุทธอาศน์พระพุทธเทวปฏิมากร
และยังมีคำที่เล่าสืบกันมาว่าถึงพระอุณาโลมพระพุทธเทวปฏิมากรนั้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้โปรดให้สร้างถวายในครั้งนั้นด้วย

อนึ่ง พระพุทธเทวปฏิมากรพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จะทรงเคารพนับถือว่าเป็นเจดีย์สถานสำคัญแห่งหนึ่งมาช้านานแล้ว
เพราะปรากฏในจดหมายเหตุว่า เมื่อได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเสร็จแล้ว
ได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารค
เมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๗๙

ครั้งนั้น จึงได้เสด็จประทับพระอุโบสถทรงกระทำสักการบูชา
พระพุทธเทวปฏิมากรเป็นปฐม เรื่องนี้เลยเป็นพระราชประเพณีตั้งแต่นั้นสืบมา
คือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารคนั้น
ย่อมเสด็จประทับ ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ทรงกระทำสักการบูชาพระพุทธเทวปฏิมากรสืบมาทุกรัชกาล















ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด 

พระพุทธไสยาส หรือ ‘พระนอน’
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

พระวิหารพระพุทธไสยาส หรือ พระวิหารพระนอน
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
ภายในประดิษฐาน “พระพุทธไสยาส” หรือ “พระนอน”
ขนาดองค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย
ซึ่งเป็นพระพุทธไสยาสที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้น โดยสร้างองค์พระขึ้นก่อนแล้วจึงสร้างพระวิหารครอบในภายหลัง

“พระพุทธไสยาส” หรือ “พระนอน” วัดโพธิ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น
พระพุทธไสยาสที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอันดับต้นๆ แห่งสยามประเทศ
มีขนาดความยาวถึง ๔๖ เมตรด้วยกัน ดำเนินการสร้างโดยช่างสิบหมู่หลวง
และมีหลวงพระองค์เจ้าลดาวัลย์ (กรมหมื่นภูมินทรภักดี) เป็นผู้กำกับดูแลการก่อสร้าง
เชื่อกันว่าเป็นปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองเหลืองอร่ามทั้งองค์
ในขณะที่พระพักตร์อิ่มเอิบ ดูขรึมขลังงดงามสมส่วน เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธายิ่งนัก

ลักษณะพระพุทธไสยาสโดยทั่วๆ ไป มีลักษณะบรรทมตะแคงขวา
พระบาทขวาเลื่อมพระบาทซ้าย แต่พระพุทธไสยาสวัดโพธิ์นั้น
มีความแตกต่างออกไปเป็นเอกลักษณ์พิเศษ
คือ พระบาททั้งซ้ายและขวานั้นซ้อนเสมอกัน
อาจเป็นความตั้งใจของช่างสิบหมู่หลวงผู้สร้างที่ตั้งใจจะแสดงลวดลาย
ลักษณะเป็น ภาพมงคล ๑๐๘ ประการ บนฝ่าพื้นพระบาททั้งสองก็เป็นได้
 









ที่น่าทึ่งคือ ลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการ

ที่งดงามโดดเด่นอย่างยิ่งบนฝ่าพื้นพระบาททั้งสองข้าง
ซึ่งเป็นลายศิลปะไทยกับจีนผสมผสานกันกลมกลืนลงตัวอย่างประณีตศิลป์
หากพิจารณาแล้ว ภาพมงคล ๑๐๘ ประการ และลวดลายภูเขาต่างๆ
ในป่าหิมพานต์ เป็นคติแบบไทยที่รับมาจากชมพูทวีป
ส่วน ภาพนก หงส์ ภูเขา เมฆ ฯลฯ รวมทั้งแนวคิดเรื่องฮวงจุ้ยเป็นคติแบบจีน

อนึ่ง การประดับลวดลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการไว้ที่ฝ่าพระบาทนั้น
เป็นไปตามคติอินเดียโบราณที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง
คือ ฝ่าพระบาทมีลายมงคล ๑๐๘ ประการ ได้แก่ ปราสาท หอยสังข์ ช้าง แก้ว
นก หงส์ ภูเขา เมฆ ฯลฯ ตรงกลางเป็นรูปกงจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ
แสดงถึงพระบุญญาบารมีอันแรงกล้า ซึ่งหากเป็นพระพุทธรูปปางอื่นๆ
จะมองไม่เห็น ยกเว้นพระพุทธรูปปางไสยาสน์
ทำให้ช่างผู้สร้างบรรจงประดับลวดลายอันวิจิตรไว้อย่างเต็มที่ 












เครดิต : http://www.dhammajak.net
http://www.baanmaha.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น